ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิเคราะห์คำสั่งหัวหน้าคสช.4/2558 ส่งทหารเสริมทัพ-ตรวจสอบจนท.ฝ่ายพลเรือน

การเมือง
9 เม.ย. 58
15:15
450
Logo Thai PBS
วิเคราะห์คำสั่งหัวหน้าคสช.4/2558 ส่งทหารเสริมทัพ-ตรวจสอบจนท.ฝ่ายพลเรือน
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 4/2558 ลงวันที่ 8 เม.ย.2558 ไม่เพียงให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเป็นเจ้าพนักงานตามการร้องขอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเท่านั้น แต่หัวใจสำคัญของคำสั่งนี้อยู่ที่ การให้ทหารเข้าไปเสริม ตรวจสอบ หรือ ทำงานควบคู่กับฝ่ายพลเรือน

คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 4/2558 เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนโดยส่วนรวม เป็นคำสั่งที่ประกาศใช้ต่อจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เพียงหนึ่งสัปดาห์ โดยคำสั่งที่ 3/2558 ลงวันที่ 1 เม.ย.2558 เป็นคำสั่งเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ภายหลังจากที่มีพระบรมราชโองการให้ยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ในการออกคำสั่งที่ 3/2558 และ 4/2558 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 อย่างสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์

ประเด็นสำคัญของคำสั่งหัวหน้าคสช. ซึ่งมีทั้งหมด 4 ข้อ ได้แก่
ข้อ 1 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะและประชาชนส่วนรวมเป็นไปอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายอาจขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทหาร โดยแจ้งความประสงค์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ข้อ 2 ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ได้รับมอบหมาย มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้น รวมทั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ข้อ 3 เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ ต้องดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารในการบังคับใช้กฎหมาย หากขัดขืนหรือไม่ให้ความร่วมมือจะถือว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง

ข้อ 4 คำสั่งนี้มีผลตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 8 เม.ย.2558 เป็นต้นไป

คำสั่งนี้เป็นการกำหนดรายละเอียดทางกฎหมายที่ชัดเจน เพื่อให้รัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง ร้องขอไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เสนอหัวหน้าคสช.ให้ตั้งทหารเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหาของส่วนราชการต่างๆ และตรวจสอบการทำงานระหว่างกัน รวมทั้งเพื่อให้ฝ่ายพลเรือนมีความระมัดระวัง และไม่ให้เกิดปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานบกพร่อง หรือทุจริตคอร์รัปชั่น

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษากฎหมาย คสช. อธิบายคำสั่งนี้ว่า "การตั้งเจ้าหน้าที่่ฝ่ายทหารไปประกบ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายต้องระมัดระวังขึ้น จะเกียร์ว่างหรือจะไปทุจริต หรือไปทำงานบกพร่องเสียเองไม่ได้ เพราะมันถูกประกบ เป็นการ check and balance (ตรวจสอบและถ่วงดุล) ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารก็อาจจะเป็นฝ่ายทำผิด เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนตามกฎหมายก็จะต้องตามประกบ และตรวจสอบกันด้วย เหมือนเป็นบัดดี้ที่จะคอยตรวจสอบกัน"

คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับนี้ สอดคล้องกับมาตรการจัดระเบียบสังคมของคสช.ดำเนินการมาเกือบ 1 ปี ภายใต้กฎอัยการศึก

หลังจากที่มีพระบรมราชโองการยกเลิกกฎอัยการศึกที่ใช้มากว่า 10 เดือน ทหารจึงต้องปรับเปลี่ยนการทำงานให้เหมาะสม โดยยังจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษเป็นเครื่องมือให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 4/2558 นี้ มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับมาตรการจัดระเบียบสังคมและการแก้ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในเรื่องต่าง ๆ เช่น การแก้ปัญหาการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะ กีดขวางทางจราจร ทําให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ในการใช้ชีวิตประจําวัน

ข้อ 2 และ3 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 4/2558 มีระบุว่าให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ได้รับมอบหมายมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งหมายถึงมีอำนาจหน้าที่ในการติดตามสอบสวนกรณีต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามภารกิจของทหารในฐานะกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยช่วงที่ผ่านมา ซึ่งต้องทำงานร่วมกับตำรวจในภารกิจต่างๆ เช่น การจัดระเบียบรถโดยสารสาธารณะ การจับกุมอาวุธสงคราม ยาเสพติด และบ่อนการพนัน

จุดประสงค์ของคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับนี้น่าจะเป็นมาตรการชั่วคราวระหว่างการจัดระเบียบสังคม ซึ่งเมื่อรัฐบาลและคสช.พิจารณาถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมให้ยกเลิกคำสั่งฉบับนี้ ก็จะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อยกเลิกต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง