ฝ่ายคัดค้านเรียกร้องรัฐบาลชะลอส่งร่าง ก.ม.จีเอ็มโอ เข้าสู่ สนช.-นัดแสดงจุดยืนพรุ่งนี้
แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีกำกับและควบคุมการปลูกพืชจีเอ็มโอ แต่ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายสนับสนุนผลักดันให้มีการทดลองปลูกและนำเข้าพืชจีเอ็มโอ ตั้งแต่ปี 2549 จึงมีความพยายามร่วมกันของฝ่ายต่างๆ ที่จะยกร่างกฎหมายขึ้นมา 1 ฉบับ นั่นคือ "ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ..." หรือที่เรียกกันว่า ร่างกฎหมายจีเอ็มโอ ทั้งที่เป็นกฎหมายซึ่งเกิดจากการเรียกร้องของทุกฝ่าย เพื่อหวังให้เป็นกลไกกำกับดูแล และควบคุมความเสี่ยงจากพืชจีเอ็มโอ แต่วันนี้ เครือข่ายเกษตรกรจำนวนหนึ่ง รวมทั้งนักวิชาการและนักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มกลับออกมาคัดค้าน
ปลายเดือน พ.ย.2558 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. ... โดยให้ความเห็นว่าเพื่อพัฒนากฎหมายในประเทศที่จะใช้ควบคุมดูแล การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ ให้เกิดความปลอดภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ ได้คำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ และหลักการดำเนินงานในระดับสากลแล้ว
มติคณะรัฐมนตรีนำมาซึ่งเสียงคัดค้านจากทั้งเกษตรกร, องค์กรเครือข่ายด้านการเกษตร องค์กรเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการหลายกลุ่ม ที่ก่อนหน้านี้ ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจน คัดค้านพืชตัดแต่งพันธุกรรม หรือจีเอ็มโอ ด้วยเชื่อว่าพืชจีเอ็มโอจะเข้ามาทำลายความมั่นคงทางอาหารของประเทศ พร้อมกับยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาหยุดการเสนอร่างกฎหมายจีเอ็มโอฉบับนี้ แต่ไม่ถึง 2 สัปดาห์ถัดมา ร่างกฎหมายดังกล่าว ก็ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และถูกคาดการณ์กันว่าน่าจะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อย่างรวดเร็ว เพราะทั้งคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติล้วนมาจากการแต่งตั้งโดย คสช.
ก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และถูกคัดค้านจากภาคประชาชน รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และองค์กรภาคประชาสังคม ด้วยเห็นว่าเนื้อหาในร่างฯ ร่างขึ้นโดยปราศจากข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบ สาระสำคัญจึงไม่ได้คุ้มครอง ปกป้องเกษตรกรรายย่อยและขัดต่อแนวทางที่มีความพยายามผลักดันเกษตรอินทรีย์
ฝ่ายผู้คัดค้านเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการส่งร่างกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ สนช. พร้อมกับขอให้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงร่างฯ โดยนำความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงพาณิชย์ และเกษตรกรผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไปประกอบการการปรับปรุงด้วย โดยนัดรวมตัวกันแสดงจุดยืนหน้าทำเนียบรัฐบาล ในวันพรุ่งนี้ (8 ธ.ค.2558)