ผู้นำประเทศบรรลุ
การประชุม COP21 เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 30 พ.ย.2558 โดยมีผู้นำประเทศและผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ จากประเทศภาคีสมาชิกอนุสัญญา 190 ประเทศเข้าร่วมเจรจาซึ่งเป็นไปอย่างตึงเครียดตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ล่าสุดในช่วงเช้ามืดวันนี้ (13 ธ.ค.) ตามเวลาในประเทศไทย ที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงปารีสที่กำหนดให้ประเทศต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเห็นชอบร่วมกันว่าทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส
ข้อตกลงนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการผูกมัดให้ประเทศต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาระสำคัญของข้อตกลงฉบับนี้ ได้แก่
• จำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และเดินหน้าความพยายามที่จะลดให้เหลือต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียส
• สร้างความสมดุลระหว่างการปลดปล่อยและการหาที่เก็บกักก๊าซเรือนกระจกให้ได้ภายในครึ่งหลังของศตวรรษนี้
• ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการทุกๆ 5 ปี
• ภายในปี 2020 ต้องสนับสนุนเงินทุน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐให้ประเทศกำลังพัฒนาเพื่อรับมือและป้องกันปัญหาสภาวะโลกร้อน
ข้อตกลงปารีสมีทั้งส่วนที่เป็นข้อผูกพันทางกฎหมายที่ประเทศภาคีจะต้องปฏิบัติตามและส่วนที่ให้กระทำโดยสมัครใจ แต่นับว่าเป็นข้อตกลงแรกที่กำหนดให้ทุกประเทศต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง
ทันทีที่นายโลรองต์ ฟาบีอุส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม COP21 ประกาศว่าที่ที่ประชุมบรรลุข้อตกลงปารีส บรรดาผู้เข้าร่วมประชุมต่างลุกขึ้นยืนปรบมือและส่งเสียงแสดงความยินดีหลังจากเจรจากันอย่างหนักหน่วงมาตลอด 2 สัปดาห์
ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมและยกย่องข้อตกลงสิ่งแวดล้อมในกรุงปารีสว่า เป็นข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ของการปกป้องสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้โลกเสียหายจากภาวะโลกร้อน
"ข้อตกลงนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเมื่อทั่วโลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราก็ทำได้" นายโอบากล่าวและแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าข้อตกลงนี้จะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะช่วยปกป้องโลกใบนี้ไว้ได้