ปปง.แถลงกรณี FATF ขึ้นบัญชีดำ
ประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ถูกคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (FATF) ขึ้นบัญชีดำที่ต้องเฝ้าระวังในการทำธุรกรรมทางการเงิน พร้อมกับปากีสถาน อินโดนีเซีย กานา และแทนซาเนีย
FATF ระบุว่า แม้ไทยจะให้คำมั่นที่จะให้ความร่วมมือในการสกัดการฟอกเงิน และต่อต้านการก่อการร้าย แต่การดำเนินการที่จะบรรลุแผนของไทยไม่เป็นไปตามเป้า และยังไม่มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน
ทั้งนี้สิ่งที่ FATF ต้องการให้ไทยดำเนินการในฐานะที่ไทยเป็น 1 ในประเทศสมาชิก 36 ประเทศ คือ มีมาตรการสกัดการสนับสนุนการให้ทุนกลุ่มก่อการร้าย, การตรวจสอบและอายัดทรัพย์สิน รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการฟอกเงิน และสกัดการให้ทุนกับกลุ่มก่อการร้าย
การขึ้นบัญชีดำสร้างความกังวลให้กับภาคเอกชน ซึ่งคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประชุมด่วนตั้งแต่เมื่อวาน (16 ก.พ.) เรียกร้องรัฐบาลแสดงจุดยืนและเจตนารมณ์ที่ชัดเจน และต้องการให้รัฐบาลเร่งผลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ
สำนักงานป้องกันและปราปปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง จะแถลงความคืบหน้าการร่วมประชุม FATF หลังเลขาธิการ ปปง.กลับจากฝรั่งเศสในวันจันทร์ (20 ก.พ.) ซึ่งการขึ้นบัญชีดำนี้จะกระทบการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศที่จะล่าช้า, การเรียกตรวจสอบเอกสารนานขึ้น, ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น และอาจถูกกีดกันทางการค้าจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ (G20)
ขณะที่ในส่วนของตลาดทุน นายจรัมพร โชติกเสถียร ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คาดว่า คงต้องกระทบต่อบริษัทต่างๆ รวมถึงบริษัทที่จะไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ภาพรวมคิดว่ายังไม่น่าทำให้บริษัทไทยต้องชะลอหรือเลิกการลงทุน
ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่า รู้สึกกังวล และจะเร่งดูอุปสรรคที่ทำให้การผลักดันกฎหมายฟอกเงินและต่อต้านก่อการร้ายล่าช้า
ขณะที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ระบุว่า คงต้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการผ่านเข้าออกของเงินมากขึ้น