ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ดีเอสไอเตรียมเสนอให้คดีทุจริตกองทุน "กยศ.-กรอ." เป็นคดีพิเศษ

สังคม
22 ก.พ. 55
01:33
35
Logo Thai PBS
ดีเอสไอเตรียมเสนอให้คดีทุจริตกองทุน "กยศ.-กรอ." เป็นคดีพิเศษ

ความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาทั้ง กยศ. และกองทุน กรอ. ของมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนจำนวน 32 แห่ง ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเตรียมเสนอให้เป็นคดีพิเศษเพื่อขยายผลการตรวจสอบ ขณะที่ผู้จัดการกองทุน กยศ. และกรมบัญชีกลาง พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบอย่างเต็มที่

นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.พงศ์อินทร์ อินขาว ผู้บังคับการสำนักคดีความมั่นคง เข้าพบ นายธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. และอธิบดีกรมบัญชีกลาง เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานคือ กยศ. และกรมบัญชีกลาง ยอมรับว่า มีปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นจริงและพร้อมจะเข้ามาตรวจสอบร่วมกับดีเอสไอ

สำหรับจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบการทุจริตเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเริ่มจากนักเรียนและนักศึกษาจำนวน 4 คน เข้าร้องทุกข์หลังถูกธนาคารกรุงไทยฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ ทั้งที่ไม่เคยเข้าเรียนและทำเรื่องขอกู้ยืมเงิน ดีเอสไอจึงทำการสืบสวน เบื้องต้น พบว่ามีนักศึกษาถูกนำรายชื่อไปใช้ในการกู้ยืมและถูกธนาคารฟ้องจำนวน 101 ราย และความเสียหายในภาพรวมยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าน่าจะมีผู้ได้รับความเสียหายจำนวนมาก

นายธาริต ระบุว่า อยากให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหานี้ เพราะความเสียหายที่ตรวจพบเป็นเพียงปลายเหตุ เพราะเชื่อว่าการทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่ภาคเรียนแรกที่นักศึกษาเข้าสมัครเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เนื่องจากการอนุมัติเงินกู้จาก กยศ. เป็นการจ่ายตรงให้กับมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยและให้กู้กับนักศึกษาทุกชั้นปี

 
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าน่า จะมีผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยและข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะทุกภาคเรียนใหม่ จะมีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยส่งเจ้าหน้าที่ออกไปชักชวนและประชาสัมพันธ์ให้เด็กในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าเรียนตามสถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยอ้างว่า นักเรียนสามารถใช้สิทธิกู้เงินเพื่อเข้าเรียนต่อได้จนจบชั้นอุดมศึกษา

ด้านนายธาดา เปิดเผยว่า เรื่องทุจริตเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต หรือ กรอ. เมื่อปี 2549-2550 นั้น กองทุนอยู่ระหว่างติดตามทวงถามเงินคืนและสืบหาข้อเท็จจริง สำหรับกรณีที่มีนักศึกษา 101 รายร้องเรียนว่า สถานศึกษานำชื่อไปแอบอ้างกู้ยืมเงิน กรอ.นั้น หลังจากกองทุนฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทำหนังสือติดตามให้สถานศึกษาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันการขอรับทุนของผู้ร้องแต่ละราย หากไม่มีหลักฐาน สถานศึกษาจะไม่มีสิทธิเก็บค่าเล่าเรียนและจะต้องชดใช้เงินคืนให้แก่กองทุนฯ

ส่วนสถานศึกษาที่ถูกร้องเรียนจำนวน 32 แห่งนั้น จากการตรวจสอบตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมาพบว่า เป็นเงินโอนในส่วนของผู้ร้องเรียนทั้งสิ้นกว่า 5,280,000 บาท ซึ่งได้มีสถานศึกษาส่งเงินคืนกองทุนฯ เพื่อชดใช้หนี้แทนนักศึกษาแล้ว 70 ราย เป็นจำนวนกว่า 3,200,000 บาท

นายธาดา กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะรับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ เพื่อขยายผลการสอบสวนและอาจมีมูลความจริงที่สถานศึกษาอาจมีการปลอมแปลงเอกสารหลักฐานโดยนักศึกษามิได้เป็นผู้ลงนาม หรือนักศึกษาอาจปฏิเสธการกู้ยืมโดยอ้างว่า มิได้ลงนามในเอกสารขอรับทุน

อย่างไรก็ตามหากพบว่าสถานศึกษากระทำผิดจริงก็ได้มีการดำเนินการตามกรอบอำนาจของระเบียบกองทุนฯ ได้แก่ การเพิกถอนอำนาจการดำเนินงานสถานศึกษา

 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง