สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นปัญหาที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจากมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศในทุกด้าน และแม้ว่าแต่ละรัฐบาลจะพยายามเสนอแนวนโยบาย กำหนดกลไก รวมถึงมาตรการแก้ไขเป็นการเฉพาะอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่ซับซ้อน ละเอียดอ่อน เชื่อมโยงกับหลากบริบท หลายมิติ สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่จึงเรื้อรังและสืบเนื่องยาวนานจนปัจจุบัน
เช่นเดียวกับรัฐบาลในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีความพยายามแก้ไขปัญหาสถานการณ์และความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่าน “นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557”
ล่าสุดเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพ รัฐบาลทหารจึงส่งต่อเครื่องมือ “แผนปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2558-2560” ให้หน่วยงานรับผิดชอบอย่าง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักงบประมาณ และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมมือกันปฏิบัติ หวังให้การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้เห็นผลชัดเจน และเป็นรูปธรรมไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้เมื่อคลี่แผนปฏิบัติการข้างต้น ที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกือบปี (ม.ค.-ต.ค. 2558) รวมถึงการปฏิบัติงานเพื่อคืนสันติสุขให้จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่เดือนพ.ค.2557 พบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แปลงนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยจัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.) ในสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ
โดยมีกุญแจสำคัญเป็นการจัดตั้ง “กลไกเพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข” ที่มี พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นช่องทางหลักในการพูดคุยกับกลุ่มในพื้นที่ที่เห็นต่างอย่าง มารา ปาตานี เพื่อหาทางออกร่วมกัน
ทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้า คสช. และมีสมช.เป็นที่ปรึกษา ในการดำเนินงานไปสู่ 4 วัตถุประสงค์ คือ 1.ลดการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ และแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี 2.เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และดำรงอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข 3.เพื่อให้สังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่มีความเข้มแข็ง และ 4.เพื่อให้ประชาชนไทยทั้งในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งประชาคมระหว่างประเทศมีความเข้าใจ และสนับสนุนแนวทางดำเนินการของฝ่ายรัฐ
ผ่านแผนปฏิบัตการตามภารกิจงานสำคัญ 7 กลุ่มงาน ได้แก่ 1.งานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2.งานอำนวยความยุติธรรมและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 3.งานสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน 4.งานการศึกษา ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม 5.งานพัฒนาตามศักยภาพของพื้นที่และคุณภาพชีวิตประชาชน 6.งานเพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐและการขับเคลื่อนนโยบายฯ และ 7.งานแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี
พล.อ.ทวีป เนตรนิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) คนล่าสุด ระบุว่า ประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้ว ในเรื่องแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ที่บอกว่ามาถูกทางกับการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยใช้การพูดคุยแบบสันติวิธีเป็นตัวเชื่อม เพราะจากข้อมูลของ สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.) เมื่อเทียบจำนวนเหตุการณ์ความมั่นคง ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ ในจังหวัดภาคใต้ ระหว่างปี 2557 กับเดือน ม.ค.-ส.ค.2558 ที่ทางการไทยใช้การเวทีพูดคุยแก้ปัญหามา 3 ครั้ง พบว่า จำนวนเหตุการณ์จาก 340 ครั้ง ลดลงเหลือเพียง 161 ครั้ง หรือลดลงร้อยละ 68 ส่วนผู้เสียชีวิตจาก 148 คน เหลือเพียง 70 คน ลดลงร้อยละ 68 และจำนวนผู้บาดเจ็บจาก 267 คน เหลือ 251 คน ลดลงร้อยละ 52 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นสิ่งยืนยันว่า รัฐบาลจะดำเนินการแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยต่อไป จนกว่ารัฐบาลไทยและกลุ่มในพื้นที่ที่เห็นต่าง จะบรรลุข้อตกลงที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายร่วมกันได้ โดยการพูดคุยครั้งที่ 4 จะเกิดขึ้นกลางเดือนพ.ย.2558 นี้ โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกเช่นเดิม” พล.อ.ทวีปกล่าว
ส่วนการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นับต่อจากนี้ พบว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประจำปีงบประมาณ 2559 เพื่อจัดสรรงบให้แผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แก่หน่วยงานต่าง ๆ เมื่อ 28 เม.ย.2558 โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาปรับลดเหลือวงเงินเหลือ 30,176.9287 ล้านบาท
เลขาธิการ สมช. อธิบายว่า เรื่องงบประมาณที่ใช้พัฒนาและแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้ ไม่มีการกำหนดกรอบไว้ตายตัวว่า ต่อปีต้องจัดสรรให้เท่านั้นเท่านี้ หรือเริ่มต้นต่อปีที่ 30,000 ล้านบาท และเพื่อให้การใช้งบประมาณต่อเรื่องนี้เป็นไปอย่างคุ้มค่า ทางคณะทำงานฯ พยายามบูรณาการงบที่จัดสรรผ่านหน่วยงานต่างๆ ให้ทำงานเชื่อมโยงกันอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา และหากพบว่าเม็ดเงินไม่พอจึงค่อยพิจารณาจัดสรรงบส่วนกลางลงไปเพิ่ม
ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พล.อ.ทวีปเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ต้องพัฒนาคือ การศึกษา เพราะเล็งเห็นว่า โอกาสทางศึกษาของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรช่วยให้ลูกหลานได้เรียนรู้ในระดับที่สูงทัดเทียมกับภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ เนื่องจากเยาวชนในภาคใต้มีความเป็นเลิศทางด้านการศึกษาไม่น้อย และโอกาสทางการศึกษาจะช่วยให้กลุ่มคนรุ่นใหม่ คิดค้นนวัตกรรมแล้วนำกลับมาพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้นได้
นอกจากนี้เลขาธิการ สมช.คนใหม่ ยังเห็นพ้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนใต้ว่า พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งหากทำได้สำเร็จจะเป็นคุณกับประเทศ
“ภาคใต้ต้องพัฒนาต่อเนื่องไม่สามารถหยุดได้ แม้จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นก็ตาม เพราะหากเราพัฒนาพื้นที่ตรงนี้สำเร็จ โอกาสในการพัฒนาด้านอื่นๆ ก็จะตามมา และจากสถิติที่เรียนไปในข้างต้นเห็นชัดเจนว่า เหตุการณ์ความมั่นคงต่างๆ ก็ลดลงไปเรื่อยๆ พิสูจน์ว่าสิ่งที่เราทำอยู่เริ่มเป็นผล” เลขาธิการสมช.ระบุ และกล่าวว่า เชื่อว่าคนไทยพุทธและคนไทยมุสลิมอยู่ร่วมกันได้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะการเห็นต่างเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น แต่ทุกคนต้องเห็นแก่ส่วนรวมเป็นหลักก่อน ความสุขสงบจึงจะบังเกิด
สิรินภา อิ่มศิริ
ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์
กดถูกใจหน้าเพจ ThaiPBSNews
https://www.facebook.com/ThaiPBSNews?ref=hl
แท็กที่เกี่ยวข้อง:
- thaipbs
- Thaipbsnews
- กอ.รมน.
- คปต.
- ความไม่สงบ
- คสช
- งบ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
- งบประมาณ
- งบประมาณทหาร
- งบประมาณแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2559
- จังหวัดชายแดนภาคใต้
- ดับไฟใต้
- ทวีป เนตรนิยม
- ทหาร
- นายกรัฐมนตรี
- บต.
- ปฏิรูปการศึกษาจังหวัดภาคใต้
- ประยุทธ์ จันทร์โอชา
- มารา ปาตานี
- ศอ
- สภาความมั่นคงแห่งชาติ
- สมช.
- สล.คปต.
- สันติสุข
- อักษรา เกิดผล
- เขตเศรษฐกิจพิเศษ
- เลขาธิการ สมช.
- เออีซี
- แผนปฏิบัติการการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2558-2560