ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"PAKBARA PARADISO" จุดกระแสค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา

สิ่งแวดล้อม
24 เม.ย. 58
14:33
643
Logo Thai PBS
"PAKBARA PARADISO" จุดกระแสค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา

เครือข่ายประชาชนรักอ่าวปากบาราจัดเวที "เสวนาปากบารา-อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้" เผยความงดงามหมู่เกาะทะเลสตูลผ่านภาพถ่ายและดนตรี กระตุ้นความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่งานวิจัยชี้ท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่คุ้มค่าในทุกมิติ หลังรัฐบาล คสช.มีแนวคิดสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ จ.สตูล

กระแสการคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เข้มข้นขึ้นอีกครั้งหลังจากที่พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2558 ว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องเดินหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล เพื่อเปิดประตูการค้าฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าสู่ทวีปยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา พร้อมกับขอให้ประชาชนอย่าคัดค้นและรัฐบาลพยายามจะดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ตามโครงการของรัฐบาล ท่าเรือน้ำลึกจะเชื่อมต่อไปยังท่าเรือ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อสนับสนุนระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ในรูปแบบสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Landbridge) ขยายการลงทุนระบบขนส่งสินค้าผ่านแผ่นดิน ดึงดูดการลงทุนต่างชาติระหว่างอ่าวไทยและอันดามันแทนการขนส่งสินค้าทางเรือผ่านช่องแคบมะละกา ประเทศสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม คนท้องถิ่น ชาวประมง ตลอดจนกลุ่มนักอนุรักษ์บางส่วนได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวเพราะเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลซึ่งมีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวและการทำประมง ซึ่งในวันนี้ (24 เม.ย.2558) เครือข่ายประชาชนรักอ่าวปากบาราได้ร่วมกับชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายนักอนุรักษ์จัดนิทรรศการ "PAKBARA PARADISO ปากบารา-อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้" ซึ่งประกอบด้วยเวทีเสวนา นิทรรศการและการแสดงศิลปวัฒนธรรม ที่กล่าวถึงความสวยงาม ความสงบและวิถีอัตลักษณ์ท้องถิ่นถ่ายทอดผ่านภาพถ่ายและความอุดมสมบูรณ์ทั้งบนบกและใต้ท้องทะเลสตูลที่มีอุทยานแห่งชาติ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติทะเลบัน และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา โดยเฉพาะหมู่เกาะตะรุเตาได้รับการยกย่องจาก UNESCO ให้เป็นมรดกแห่งอาเซียน

นายสมบูรณ์ คำแหง เลขานุการมูลนิธิอันดามันกล่าวในเวทีเสวนา "ความจริงที่ปากบารา: คุณค่าอันดามันมรดกโลก" ว่าจังหวัดสตูลเป็นจังหวัดเล็กๆ ที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทยฝั่งอันดามันและเชื่อว่าหลายคนยังไม่เคยมีโอกาสสัมผัสความงดงามทางทะเล และอัตลักษณ์วิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนสตูลจึงตั้งใจนำความงดงามมาสื่อสารให้คนกรุงเทพฯ ได้รับชมผ่านภาพถ่าย เสียงดนตรีและการเสวนาเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เน้นการกระจายรายได้สู่ชุมชน และไม่ทำลายวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

สำหรับความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสตูลถือว่ามีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูงมากและสามารถกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นผ่านการท่องเที่ยว โดยข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2555 มีนักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดสตูลสูงถึง 760,395 คนต่อปี สร้างรายได้กว่า 2,000 ล้านบาทสู่ชุมชน เนื่องด้วยทรัพยากรทางทะเลยังมีความสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยนิเวศวิทยาทางทะเล พบว่าทะเลสตูลเป็นแหล่งฟอสซิลสมัยดึกดำบรรพ์ ก่อนยุคไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นแหล่งเดียวในภูมิภาคอาเซียน

นายธรรมรัตน์ นุตะธีระ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา จ.สตูล ระบุว่าตั้งแต่ปี 2545 ทีมนักนิเวศน์วิทยาชาวญี่ปุ่นได้เข้าสำรวจธรณีวิทยาทางทะเล บริเวณอุทยานแห่งชาติในจังหวัดสตูลพบว่า มีแหล่งฟอสซิลโบราณเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ปากบาราถือเป็นแหล่งธรณีวิทยาทางทะเลที่สมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน ซึ่งจากการขุดสำรวจพบซากฟอสซิลยุคก่อนไดโนเสาร์เป็นจำนวนมาก คนในท้องถิ่นจึงมีแนวคิดผลักดันพื้นที่นี้เป็นอุทยานธรณีวิทยาทางทะเลเพื่อการวิจัยแห่งแรกในอาเซียน

"แต่หากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา การผลักดันงานวิจัยและอุทยานธรณีวิทยาทางทะเลก็ต้องยุติลง" นายธรรมรัตน์กล่าว

สำหรับมิติด้านเศรษฐกิจและความคุ้มค่าต่อการลงทุนในการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์ โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Landbridge) ระหว่างท่าเรือ อ.จะนะ จ.สงขลา กับ ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตู ล เพื่อส่งเสริมการขนถ่ายสินค้าผ่านทางบกผ่านประเทศไทยแทนการขนถ่ายทางเรือที่ช่องแคบมะละกา ประเทศสิงคโปร์ ผศ.ประสาท มีแต้ม อนุกรรมการสิทธิชุมชน (กสม.) ระบุว่าจากการวิจัยชี้ให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายเมื่อขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือในฝั่งอ่าวไทยที่ จ.สงขลาผ่านไปยังทะเลอันดามัน ที่ปากบารา จ.สตูล ด้วยระบบขนส่งทางบกจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบมะละกา เนื่องจากต้องขนส่งขึ้นทางบกและขนส่งลงทางเรืออีกขั้นตอน ส่งผลให้ผู้ประกอบการเดินเรือหลายประเทศไม่ให้ความสนใจขนถ่ายสินค้าผ่านปากบารา จึงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน รวมถึงผู้ประกอบการหลายรายมีสัญญากับท่าเรือที่สิงคโปร์ การสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ปากบารา จ.สตูลจึงไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

ทั้งนี้งาน "PAKBARA PARADISO ปากบารา-อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2558 ณ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันพรุ่งนี้ (25 เม.ย.) จะมีการฉายสารคดี "อันดามัน", การแสดงดนตรีโดยมาโนช พุฒตาล, เสวนา "ทิศทางทะเลไทย", เล่าภาพให้เป็นเรื่องโดยจิระนันท์ พิตรปรีชา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง