อิสราเอล-อิหร่าน ชิงออสการ์ ยันไม่เอี่ยวการเมือง

Logo Thai PBS
อิสราเอล-อิหร่าน ชิงออสการ์ ยันไม่เอี่ยวการเมือง

การประกาศผลรางวัลออสการ์ในปีนี้ถูกจับตามองมากขึ้นเมื่อภาพยนตร์ของประเทศอิสราเอล และประเทศอิหร่าน ชาติคู่อริทางการเมือง เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ

ในงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งที่ 84 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 กุมภาพันธ์นี้ สาขาที่น่าจับตามองอีกประเภทคือ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม เมื่อตัวแทนของชาติคู่อริทางการเมืองอย่างอิสราเอล และอิหร่าน ได้เข้าชิงพร้อมกันเป็นครั้งแรก แม้ตัวผู้กำกับทั้ง 2 จะย้ำว่าไม่มีนัยแอบแฝงทางการเมืองก็ตาม

ภาพยนตร์เรื่อง Footnote ตัวแทนจากอิสราเอล ที่เล่าถึงความขัดแย้งจากช่องว่างระหว่างวัยของพ่อลูกนักวิทยาศาสตร์ยิวผู้เก่งกาจ ที่ความเถรตรงของบิดาทำให้เขามีปัญหาในการเข้าสังคม ต่างจากลูกชายที่ความเนื้อหอมในแวดวงวิชาการ นำมาซึ่งความสำเร็จอย่างที่ผู้เป็นพ่อไม่เคยได้รับ ขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง A Separation ตัวแทนจากอิหร่าน บรรยายถึงความบาดหมางระหว่างสามีภรรยา เมื่อการตัดสินใจแยกทางของทั้งคู่สร้างผลกระทบต่อชีวิตผู้คนมากมาย แม้ภาพยนตร์ทั้ง 2 เรื่องจะเน้นประเด็นความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นหลัก แต่การที่ทั้งสองเป็นตัวแทนจากชาติที่ขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ทำให้การชิงชัยสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศของออสการ์ปีนี้ได้รับความสนใจมากกว่าทุกปี

ความขัดแย้งระหว่าง 2 ชาติซึ่งคุกรุ่นตลอดหลายปี รวมทั้งเหตุการณ์ล่าสุดที่อิสราเอลกล่าวหาอิหร่านว่าอยู่เบื้องหลังการลอบวางระเบิด 5 จุดในเมืองหลวงของ 3 ประเทศเพื่อสังหารเจ้าหน้ายิว จากความขัดแย้งเรื่องโครงการพลังงานนิวเคลียร์ของอิหร่าน ทำให้บ่อยครั้งที่การพบกันของตัวแทนสองประเทศในเวทีนานาชาติจบลงด้วยความล้มเหลว ทั้งครั้งที่นักว่ายน้ำอิหร่านถอนตัวจากการแข่งขันโอลิมปิกที่ปักกิ่งเพราะไม่ต้องการว่ายร่วมสระกับนักกีฬาอิสราเอล รวมถึงการแข่งขันหมากรุกนานาชาติที่นักกีฬาคนดังของอิหร่านถูกตัดสิทธิ์ เพราะปฎิเสธที่จะแข่งขันกับตัวแทนจากอิสราเอล

แม้จะเป็นครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ภาพยนตร์จากอิหร่านได้เข้าชิงออสการ์ แต่ A Separation ก็มาในฐานะตัวเต็งจากการกวาดรางวัลมาแล้วมากมาย ทั้งหมีทองคำ จากเบอร์ลินเมื่อปีก่อน จนถึงรางวัลลูกโลกทองคำเมื่อเดือนที่แล้ว โดยอัสการ์ ฟาร์ฮาดีกล่าวว่า ภาพยนตร์ซึ่งถูกสร้างภายใต้การอนุมัติโดยกองเซนเซอร์ของอิหร่าน ต้องการสะท้อนสังคมอิหร่านทั้งเชิงอนุรักษ์นิยม และวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ โดยไม่มีอิทธิพลจากรัฐบาลเข้ามาแซกแทรง

ขณะที่การเข้าชิงของ Footnote ทำให้อิสราเอลเป็นชาติที่มีภาพยนตร์เข้าชิงออสการ์มากที่สุดเป็นอันดับ 6 หรือ 10 ครั้ง และถือเป็นครั้งที่ 2 ของผู้กำกับโจเซฟ ซีดาร์ ที่เคยนำ Beaufort หนังต่อต้านสงครามระหว่างอิสราเอล และเลบานอนที่ถูกวิจารณ์จากเพื่อนร่วมชาติเข้าชิงออสการ์เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งเขาบอกว่าผลงานของเขา และของฟาร์ฮาดี ต่างสร้างจากมุมมองส่วนตัวของศิลปินสองราย ที่บังเอิญเป็นตัวแทนให้กับชาติที่ขัดแย้งทางการเมือง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับผลงานแต่อย่างใด ซึ่งเขามองว่า A Separation เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ดีที่สุดที่สร้างออกมาเมื่อปีที่แล้ว ที่ช่วยยกระดับการชิงชัยของออสการ์ในปีนี้อย่างสูง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง