วิศวกรรมสถานเข้าตรวจสอบโครงสร้างคานเหล็กค้ำยันก่อนรื้อถอนถาวร
คานเหล็กค้ำยัน แผ่นคอนกรีตที่วางเชื่อมระหว่างเสาตอม่อ ทางยกระดับดอนเมืองโฮปเวลล์ ที่พังลงมา ทำให้เจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องมาตรวจสอบสภาพความชำรุด รวมถึงให้เจ้าหน้าที่บำรุงทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ใช้เครื่องตัดเหล็กด้วยความร้อนตัดโครงสร้างเหล็กที่หล่นมากีดขวางทางรถไฟบริเวณขาล่อง หรือขาเข้ากรุงเทพ เพื่อเปิดเส้นทางการเดินรถไฟให้เป็นปกติ หลังต้องล่าช้าจากการสลับราง
ชาวบ้านใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุ เล่าว่าช่วงเช้าวันนี้ (1 มี.ค.) มีเสียงดังเกิดขึ้นใกล้โรงเรียนวัดเสมียนนารี เมื่อวิ่งมาดูพบว่ามีฝุ่นสีขาวคละคลุ้ง และพบว่าคานค้ำยันเหล็กพังลงมาพร้อมแผ่นคอนกรีตขนาดใหญ่ ส่วนชายเร่ร่อนที่มีชาวบ้านให้ข้อมูลว่า อาศัยอยู่ใต้คานค้ำยัน เบื้องต้นไม่พบว่าอยู่ภายในพื้นที่เกิดเหตุแต่อย่างใด
ด้านนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยระบุว่า จุดเกิดเหตุเป็นโครงการทดลองสร้าง ของบริษัทโฮปเวลล์โฮลดิ้ง แต่โครงการได้ยุติลงก่อน ส่วนสาเหตุเบื้องต้นคาดว่ามาจากน็อต และเหล็กบางส่วนถูกขโมยไปขาย ทำให้เกิดการเคลื่อนตัวของคานค้ำยัน เมื่อมีแรงสั่นสะเทือนจากการวิ่งของรถไฟบริเวณใกล้เคียง และสภาพของโครงเหล็กที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 20 ปี ทำให้พังลงมา โดยขณะนี้ต้องให้วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย มาตรวจสอบส่วนที่ชำรุด และโครงสร้างอีกครั้ง ก่อนทำการรื้อถอน
สำหรับคานโฮปเวลล์ตรงจุดเกิดเหตุ จะเป็นส่วนหนึ่งในแผนทบทวนของการรถไฟฯ ว่าจะใช้เป็นแนวของการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้มีการศึกษาที่จะใช้แนวคานโฮปเวลล์ ประมาณร้อยละ 40 ของจำนวนคานทั้งหมด ระยะทางทั้งสิ้นประมาณ 60 กิโลเมตร