ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ย้อนรอยโครงการโฮปเวลล์

1 มี.ค. 55
14:02
24
Logo Thai PBS
ย้อนรอยโครงการโฮปเวลล์

ย้อนหลังไปโครงการโฮปเวลล์ เกิดขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2533 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างยกระดับเพื่อแก้ปัญหาจราจร แต่ที่ผ่านมาจนมาถึงวันนี้ที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ก็มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ภาครัฐถูกเอกชนฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท

โครงการโฮปเวลล์ หรือโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานครเกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 23 ปีที่แล้วในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้เปิดประมูลสัมปทานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ายกระดับ เพื่อแก้ปัญจราจร โดยมีบริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ของฮ่องกง ชนะประมูลโครงการ ด้วยมูลค่า 53,000 ล้านบาท มีอายุสัญญา 30 ปี

 ระยะเวลาก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2533 สิ้นสุดปี 2542 แบ่งออกเป็น 5 ช่วง รวมระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ซึ่งจุดเกิดเหตุคานโฮปเวลล์พังถล่ม อยู่ในช่วงระยะที่ 1 เส้นทางยมราช-ดอนเมือง ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร โดยเป็นส่วนของชานชาลา สถานีที่ 2 ซึ่งทั้งโครงการเพิ่งสร้างได้เพียง 2 สถานี

การก่อสร้างหลังสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย เป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ และปัญหาเศรษฐกิจ ต่อมาปี 2534 เกิดรัฐประหาร รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน เข้าตรวจสอบสัญญาสัมปทานทั้งหมด พบว่าสัญญามีเงื่อนไขผูกขาด จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้

ปีถัดมา นายนุกูล ประจวบเหมาะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ประกาศล้มโครงการโฮปเวลล์ พร้อมจัดตั้งองค์การรถไฟฟ้ามหานครมาดำเนินการแทน

ในปี 2538 สมัย "รัฐบาลชวน หลีกภัย" กลับมาผลักดันโครงการโฮปเวลล์ โดยขณะนั้น พ.อ.วินัย สมพงษ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม แต่โครงการนี้ยังเผชิญวิบาก ทั้งเรื่องเงินทุน  แหล่งเงินกู้ แบบก่อสร้าง รวมถึงพื้นที่ริมทางรถไฟมีน้อยเกินไป ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน

ต่อมาสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในปี 2540 คณะรัฐมนตรีมีมติบอกเลิกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์อีกครั้ง และเป็นที่มาของการหยุดการก่อสร้างโดยสิ้นเชิง แต่ต่อมาสมัยรัฐบาลนายชวน 2 ในปีเดียวกัน มีความพยายามเดินหน้าต่อ แต่คืบหน้าเพียงร้อยละ 13 ซึ่งตามแผนงาน โครงการต้องแล้วเสร็จร้อยละ 90

ท้ายสุดกระทรวงคมนาคมจึงต้องบอกเลิกสัญญากับโฮปเวลล์เป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2541 โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

ส่วนโครงการที่ก่อสร้างไปแล้วการรถไฟฯ ระบุว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ และพยายามปัดฝุ่นโครงการอีกครั้งในปีเดียวกันโดยจะใช้ต่อม่อร้อยละ 44 ของทั้งหมด เป็นแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าสีแดงเข้ม เส้นทาง บางซื่อ -รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร

ปี 2547 บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 56,000 ล้านบาท จากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทยฐานบอกเลิกสัญญาทำให้ได้รับความเสียหาย รวมถึงเรียกร้องค่าเสียโอกาสที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ 200,000 ล้านบาท

ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 ให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทยจ่ายเงินคืนให้บริษัท โฮปเวลล์ โฮลดิ้ง 11,888 ล้านบาท แต่การรถไฟฯ
ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเมื่อปี 2553 เพื่อขอศาลฯสั่งยกเลิกคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ปัจจุบันยังอยู่ในชั้นศาล

จนถึงขณะนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะใช้ตอม่อร้อยละ 44 มาใช้เป็นแนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสีแดงเข้ม เส้นทางบางซื่อ -รังสิต อีกครั้ง ซึ่งจากการสำรวจปี 2553 การรถไฟฯ ต้องทุบตอม่อโฮปเวลล์ทิ้งไป 411 ตอม่อ เหลือใช้ประโยชน์ได้ 121 ตอม่อ

ซึ่งจะการจะดำเนินการใดๆ ต่อต้องรอวิศวกรรมสถาน และกรมโยธาธิการเข้าตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างที่ในวันจันทร์ที่ 5 มีนาคมนี้ คาดว่าจะใช้เวลาอีก 2 เดือนจึงจะทราบผลว่าตอม่อความยาว 60 กิโลเมตรที่มีบางช่วงแช่น้ำนานร่วม 3 เดือนจากวิกฤติน้ำท่วมจะยังสามารถใช้การได้ดีเพียงพอจะรองรับการเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีแดงได้หรือไม่
 


แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง