คาดตลาดโลจิสติกส์ในไทย จะโต7.5% มีมูลค่าสูงถึง 85.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559
นายโกปอล อาร์ รองประธานด้านยานยนต์และโลจิสติกส์ เอเชีย-แปซิฟิก บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก เปิดเผยว่า การขนส่งทางทะเลเป็นการขนส่งหลักสำหรับการขนส่สินค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของการขนส่งทั้งหมดในประเทศที่ทำการวิจัยทั้ง 12 ประเทศ นอกจากนี้ ปริมาณสินค้าของประเทศต่างๆเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และมีจำนวนถึง 19.67 พันล้านตันในปีนี้ แนวโน้มอุตสาหกรรมหลักในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค
นายโกปอลกล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้ใช้บริการด้านโลจิสติกส์มีพัฒนาการที่ก้าวหน้าเป็นอย่างมาก และมีความคาดหวังต่อผู้ให้บริการสูงขึ้นเช่นกัน โดยลูกค้าเหล่านี้ต้องการความสามารถที่จะมองเห็นได้ในกระบวนการห่วงโซ่อุปทานจากผู้ให้บริการเพื่อยกระดับการจัดการสินค้าคงคลัง การพัฒนาเรื่องการคาดการณ์ความต้องการเพิ่มเติมด้านการสื่อสาร และทำให้การจัดการโลจิสติกส์มีความราบรื่นมากยิ่งขึ้น
เขากล่าวเสริมว่าปัจจุบัน ทั่วโลกต่างก็ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้นำภาคอุตสาหกรรมต่างๆจำเป็นต้องยึดหลักปฎิบัติเกี่ยวกับ กรีนโลจิสติกส์ Green Logistics) ที่ยั่งยืน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาต้นทุนไม่ให้สูงขึ้นอีกด้วย โดยกรีนโลจิสติกส์ดังกล่าวรวมถึง การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมให้น้อยลง การใช้พลังงานเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการใช้พลังงานน้ำ กระดาษ และทรัพยากรอื่นๆ เป็นต้น ในปีที่ผ่านมา เหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น และอุทกภัยครั้งใหญ่ของประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความอ่อนแอในระบบห่วงโซ่อุป่านและความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ
"บริษัทต่างๆจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์การบริหารการจัดการด้านห่วงโซ่อุปทานเสียใหม่ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการคำนวณต้นทุนบนความเสี่ยงต่างๆ เนื่องจากลูกค้าได้เริ่มให้ความสำคัญกับต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น” มร. โกปอล กล่าวและว่า ห่วงโซ่อุปทานที่สั้นลงจะทำให้บริษัทสามารถดูแลการผลิตได้เป็นอย่างดี และช่วยตอบสนองได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นต่อความต้องการที่ผกผันรวมถึงปัญหาด้านการผลิตต่างๆที่เกิดขึ้นอีกด้วย