วันนี้ (27 ธ.ค.) เวลา 10.00 น. นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เขียนข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “ธวัชชัย ไทยเขียว” ถึงกรณีเหมืองทองจะฟ้องนักเรียนชั้นม.4 ซึ่งเป็นนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส ว่า
#กรณีเหมืองทอง ฟ้องเยาวชนอายุ 14 ปี ใครควรเป็นองค์กรหลักในการตรวจพิสูจน์ฯ มิใช่ปล่อยสภาพปัญหาคาราคาซังแบบนี้
หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ เพราะประชาชนเขาได้ซื้อความเสี่ยงและบริการของรัฐที่เป็นเลิศไปแล้วครับ
- กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้รับคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน และอนุญาต
- สำนักงานจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นเป้าหมายในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
- คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค มีหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ และติดตามและสอดส่องพฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งกระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค และจัดให้มีการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าหรือบริการใดๆ ตามที่เห็นสมควรและจำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค
- กรมอนามัย มีหน้าที่กำหนดและพัฒนานโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนงานหลักด้านการส่งเสริมสุขภาพและการอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ และกำหนดและพัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน และกฎเกณฑ์ รวมทั้งการรับรองมาตรฐานการบริการส่งเสริมสุขภาพและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม..
ขยับกันได้แล้วหรือยังครับ เสียของจริงๆ
อย่างไรก็ตามวันเดียวกัน เวลา 07.00 น. นายธวัชชัย ยังเขียนข้อความเชิงให้ความรู้ด้านกฎหมายในกรณีดังกล่าว ระบุว่า
#กรณีบริษัทฯแจ้งข้อกล่าวหาเยาวชนกระทำความผิดในเขตท้องที่หนึ่งในต่างจังหวัด แล้วจะนำไปแจ้งข้อกล่าวหาในท้องอื่นหรือกรุงเทพฯ ได้หรือไม่..?
พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 95บัญญัติว่า “คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด ให้ศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งมีเขตอำนาจในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติ มีอำนาจพิจารณาคดีเกี่ยวกับความผิดนั้น แต่ถ้าเพื่อประโยชน์แก่เด็กหรือเยาวชนให้ศาลแห่งท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดมีอำนาจรับพิจารณาคดีนั้นได้”
กรณีเยาวชนกระทำความผิดที่จังหวัดอื่น มิใช่กรุงเทพฯ ... ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดี จึงมิใช่ศาลเยาวชนฯ มีนบุรี หรือศาลเยาวชนฯ กลาง ครับ
ส่วนที่กฎหมายบัญญัตว่า “แต่ถ้าเพื่อประโยชน์แก่เด็กหรือเยาวชนให้ศาลแห่งท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดมีอำนาจรับพิจารณาคดีนั้นได้" ก็เนื่องจากเดิมศาลเยาวชนมีไม่ครบทุกจังหวัด แต่เด็กหรือเยาวชนไปกระทำความผิดในจังหวัดที่ไม่มีศาลเยาวชน จึงให้ศาลเยาวชนฯ ในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดมีอำนาจพิจารณาคดีได้ ก็เพราะประสงค์จะให้เด็กหรือเยาวชนรายนั้น ได้มีโอกาศในการขึ้นศาลเยาวชนฯ ไม่ต้องไปขึ้นศาลอาญาหรือศาลจังหวัดที่ใช้กระบวนการพิจารณาคดีแบบผู้ใหญ่ครับ
ดังนั้น การที่บริษัทฯ แจ้งข้อกล่าวหาเยาวชนที่กระทำความผิดที่สถานีตำรวจภูธรวังสะพุง จังหวัดเลย นั้น เมื่อพิจารณาดูเขตอำนาจศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจึงเป็นการถูกต้อง
แต่กระบวนการยุติธรรมเด็กหรือเยาวชนมาตรา 99 วรรคแรก พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ กำหนดไว้ว่า “ห้ามมิให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาซึ่งมีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต่อศาลเยาวชนและครอบครัวเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานพินิจที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ”
ซึ่งตามขั้นตอนผู้อำนวยการสถานพินิจฯ หลังจากได้รับการร้องขอของผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีอาญาตามวรรคหนึ่งแล้ว จะดำเนินการสืบสวนและสอบสวนว่าข้อกล่าวหานั้นมีมูลสมควรอนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องหรือไม่ แล้วแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าอนุญาตให้ฟ้องหรือไม่อนุญาตให้ฟ้อง
ในกรณีที่ผู้อำนวยการสถานพินิจไม่อนุญาตให้ฟ้อง ผู้เสียหายจะร้องต่อศาลขอให้สั่งอนุญาตก็ได้ในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลเรียกผู้อำนวยการสถานพินิจมาสอบถามแล้วสั่งตามที่เห็นสมควร คำสั่งศาลให้เป็นที่สุด เมื่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้ไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งประทับรับฟ้องของผู้เสียหายแล้วให้ผู้อำนวยการสถานพินิจดำเนินการสืบเสาะตามมาตรา 82 ตามควรแก่กรณี
อย่างไรก็ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายตามมาตรา 119 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า “ในการพิจารณาและพิพากษาคดีที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว "คำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งควรจะได้รับการฝึกอบรม สั่งสอน และสงเคราะห์ให้กลับตัวเป็นพลเมืองดียิ่งกว่าการที่จะลงโทษ”
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในการพิพากษาคดีเด็กหรือเยาวชนนั้นให้ศาลคำนึงถึงบุคลิกลักษณะ สภาพร่างกายและสภาพจิตของเด็กหรือเยาวชนซึ่งแตกต่างกันเป็นคนๆ ไป และลงโทษหรือเปลี่ยนโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนให้เหมาะสมกับตัวเด็กหรือเยาวชน และพฤติการณ์เฉพาะเรื่อง แม้เด็กหรือเยาวชนนั้นจะได้กระทำความผิดร่วมกันก็ตาม
ฉะนั้น หากพิจารณาตามหลักกฏหมายและธรรมเนียมปฏิบัติของสถานพินิจฯ ที่ผ่านมาจะพิจารณาไม่อนุญาตครับ ซึ่งหากผู้เสียหายติดใจก็สามารถไปร้องขอต่อศาลให้พิจารณาหรือญาติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ครับ
แต่ไม่ทราบเพราะเหตุใด บริษัทฯ มาแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีกับเยาวชนที่สถานีตำรวจนครบาลมีนบุรีอีก เนื่องจากเห็นว่าสิ่งที่เด็กหรือเยาวชนำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ จึงอ้างเหตุเอาพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นสถานที่ที่เยาวชนกระทำความผิดด้วย กระทำเสมือนคดีหมิ่นประมาทที่นักการเมืองสมัยก่อนนำไปแจ้งข้อกล่าวหาคู่กรณี ฟ้องกันไปทั่วประเทศ เพื่อสร้างภาระให้กับคู่กรณี
ซึ่งหากดูตามเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่าเป็นการแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีในท้องที่ที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีต่อเยาวชน โดยหลักการทั่วไปพนักงานสอบสวนไม่ควรรับแจ้งข้อกล่าวหา เพราะไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจศาลเยาวชนที่มีอำนาจ ดังกล่าว หรือแม้เมื่อรับแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนต้องนำเด็กไปดำเนินการฟ้องคดี ณ ที่สำนักงานอัยการจังหวัดแผนกคดีเยาวชนจังหวัดเลย มิใช่ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 5 ( มีนบุรี) หรือสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัวกรุงเทพฯ ครับ
ผมว่างานนี้ต่อไปนี้ คงต้องมีใครสักคนที่ก้าวพลาดในกระบวนการยุติธรรม ที่พยายามมุ่งแต่จะเอาโทษกับเด็กหรือเยาวชน เนื่องจากเมื่อพิจารณาตามรูปเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไปดังกล่าวแล้ว โดยส่วนตัวเห็นว่า "กำลังเล่นอยู่กับไฟแล้วล่ะ”...
มีทางออกอย่างอื่นที่ดีกว่านี้ร่วมกันหรือไม่ครับ? ...ที่จะเอาวิกฤตเป็นโอกาสชิง...พิสูจน์ในเชิงนิติวิทยาศาสตร์เสียเลย ว่าเราสุดยอดสุดประเสริฐ ถ้ามั่นใจว่า...มิได้เป็นไปตามที่เยาวชนเข้าใจผิดและกล่าวหา น่า จะได้รับคำสรรเสริญเยินยอเป็นร้อยเท่าพันทวี