การเคลื่อนไหวของกลุ่มสยามสามัคคีเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวานนี้ ( 2 มี.ค.) มีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนลงชื่อถอดถอนคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ สมาชิกรัฐสภา 399 คน ที่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เปิดทางให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. โดยระบุว่า ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ
แกนนำกลุ่มสยามสามัคคีร่วมแถลงข่าวถึงจุดยืนการติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อติดตามการทำงานของกรรมาธิการ และ ส.ส.ร. เนื่องจากกังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีการแก้ไขในหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ แทรกแซงองค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม และการนิรโทษกรรม โดยแนวทางการเคลื่อนไหวจากนี้ยังเป็นไปในลักษณะการให้ความรู้กับประชาชนในทางวิชาการ ส่วนการนัดชุมนุมใหญ่เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า รัฐบาลจะไม่ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมแสดงความคิดเห็นคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่กังวลว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะส่งผลกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล
ส่วนกรณี รศ.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกทำร้ายนั้น ร.ต.อ.เฉลิม ยืนยันว่า เหตุผลการทำร้ายไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มการเมืองใด ๆ โดยการแสดงออกดังกล่าวเป็นเพียงการไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่ต่างกัน ซึ่งเชื่อว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ส่งผลที่จะทำให้เกิดเป็นกรณีตัวอย่างที่อาจนำไปสู่การทำร้ายกัน
ขณะที่ ศ.คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบเพื่อค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.เปิดเผยถึงการเตรียมเปิดเวทีกลางเพื่อให้ทุกฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ กฏหมายประมวลอาญามาตรา 112 ได้แสดงความคิดเห็นร่วมกันเพื่อลดพฤติกรรมการต่อต้านและความขัดแย้ง ระหว่างวันที่ 16-18 มี.ค.นี้ พร้อมสรุปข้อเสนอการสร้างความปรองดองฉบับที่ 3 ให้กับนายกรัฐมนตรีภายในปลายเดือนนี้