คค.ประสาน สมาคมวิศวกรรมฯ ตรวจสอบโครงสร้างโฮปเวลล์
ตัวแทนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบวิเคราะห์โครงสร้างเสาและคาน โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร หรือ โฮปเวลล์ ในวันนี้(5 มี.ค.) ตามกระทรวงคมนาคม ร้องขอ หลังเกิดเหตุ คานชานชาลาถล่มถล่มลงมาที่ใกล้วัดเสมียนนารี เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นคาดว่า สาเหตุน่าจะเกิดจากเสาค้ำยันคอนกรีตไม่ได้รับการดูแลมานาน ซึ่งหากตรวจสภาพแล้ว เห็นว่าไม่ปลอดภัยควรทำลายทิ้ง เพราะหากนำมาใช้กับระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ อนาคตต้องมีประชาชนใช้บริการเป็นจำนวนมาก ยิ่งต้องตรวจสอบอย่างดีเพื่อป้องกันปัญหาและผลกระทบที่อาจตามมา
ก่อนหน้านี้ นายธเนศ วีระศิริ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยว่า ปกติโครงสร้างที่ก่อสร้างไว้นานหลายปีต้องมีการบำรุงดูแลรักษา เหมือนกับที่อยู่อาศัย ที่ทุกๆ 5 ปี ต้องตรวจดูรอยร้าว ทาสีใหม่ รักษาฐาน รวมถึงตัวโครงสร้างต่างๆ เช่นเดียวกันโครงร่าง หากดูแลอย่างดี จะช่วยให้มีอายุการใช้งานได้นานกว่า 50-60 ปี แต่ต้องดูแลต่อเนื่องเป็นอย่างดีควบคู่กันไปด้วย
ด้าน นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. เปิดเผยถึงแนวทางจัดการโครงสร้างตอม่อโครงการโฮปเวลล์ ว่า ร.ฟ.ท.จะนำโครงสร้างตอม่อส่วนหนึ่งมาใช้ในโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร โดยที่ผ่านมานักวิชาการจากสถาบันการศึกษา 2 แห่ง คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย หรือ เอไอที ได้สำรวจโครงสร้างต่างๆ และตรวจสอบตอม่อในโครงการจำนวน 1,540 ต้น จากบริเวณสถานีบางซื่อ-สถานีรถไฟดอนเมือง ระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งผลการตรวจสอบจาก 2 สถาบัน พบว่า โครงสร้างต่างๆ และตอม่อมีความแข็งแรง สามารถใช้งานได้โดยไม่จำเป็นต้องทุบทิ้ง แต่อาจมีบางส่วนที่ต้องซ่อมแซมก่อนนำไปใช้งาน โดยส่วนที่เกิดสนิมหรือมีน้ำซึมผ่านเข้าไป จำเป็นต้องรื้อทิ้ง