วันนี้ (29 ธ.ค.2558) เวลา 16.30 น. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีคำร้องขอให้ถอดถอนและคำกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกกับพวก ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ สั่งใช้กำลังทหาร ตำรวจ และข้าราชการพลเรือน เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในวันที่ 10 เม.ย.2553 ถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
โดยเรื่องนี้จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุที่มีการสั่งใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธปืนติดตัว เข้าขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ในระหว่างวันที่ 10 เม.ย.2553 ถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บนั้น อยู่ในช่วงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช. มิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และมีบุคคลที่มีอาวุธปืนปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. จึงมีเหตุจำเป็นที่ศอฉ. ต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง โดยมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัว หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้เพื่อระงับยับยั้งได้ไปตามสถานการณ์ หรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า หรือป้องกันตนเองได้ อันเป็นไปตามหลักสากล ตามนัยคำพิพากษาศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ 1433/2553
อย่างไรก็ตาม แม้คำสั่งที่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่นำอาวุธติดตัวเพื่อป้องกันตนเองได้ จะเป็นไปตามหลักสากลก็ตาม แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ ที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการใช้อาวุธปืนตามแนวทางดังกล่าวข้างต้น ตามความจำเป็น และพอสมควรแก่เหตุ อันเป็นภาระที่หนักและยากอย่างยิ่งในการปฏิบัติ แต่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบดังกล่าวได้ หากภายหลังสามารถพิสูจน์ได้ว่า มีการใช้อาวุธปืนโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติ และเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีจำเป็น จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ อันเป็นความรับผิดเฉพาะตัว เช่นเดียวกับนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ จะต้องรับผิดในกรณีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า รู้ว่าเจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตนได้ใช้หรืออยู่ระหว่างใช้กำลังบังคับและอาวุธปืนโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ไม่ดำเนินการยับยั้ง ป้องกัน และรายงานเหตุดังกล่าว
ซึ่งคดีการเสียชีวิตและบาดเจ็บของประชาชนในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มนปช. เมื่อปี 2553 ในเหตุการณ์เดียวกันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับดำเนินการเป็นคดีพิเศษด้วย จึงมีมติให้ส่งเรื่องการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ทหารที่เป็นผู้กระทำให้เกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าว รวมถึงนายทหารระดับผู้บังคับบัญชาในพื้นที่ ซึ่งมิใช่บุคคลตามมาตรา 66 ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 89/2
สำหรับประเด็นการกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กับพวก กรณีละเว้นไม่สั่งระงับยับยั้ง ทบทวนวิธีการ หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้กำลังทหารนั้น จากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์การขอคืนพื้นที่ชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บแล้ว ศอฉ.ได้ทบทวนปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยไม่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าผลักดันผู้ชุมนุมอีกต่อไป แต่ใช้มาตรการตั้งด่านตรวจ หรือจุดสกัดปิดล้อมวงนอกไว้โดยรอบ เพื่อให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมไปเอง โดยการปฏิบัติในวันที่ 14 พ.ค.2553 เป็นการตั้งด่านอยู่กับที่ทุกแห่ง แต่ในวันที่ 19 พ.ค.2553 เจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปควบคุมพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี โดยไม่ได้มีการผลักดันต่อผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์โดยตรง แต่เป็นการกดดันต่อกองกำลังติดอาวุธที่ยึดสวนลุมพินีอยู่ ซึ่งการปฏิบัติในการกระชับพื้นที่สวนลุมพินี ในวันที่ 19 พ.ค.2553 เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยประกาศให้ผู้ชุมนุมออกไปจากพื้นที่ก่อน หลังจากประกาศแล้ว เจ้าหน้าที่จึงเข้าไป
ดังนั้นข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวน ยังรับฟังไม่ได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสาม กับพวก ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการดำเนินการ ในเรื่องดังกล่าว โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อหรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่น โดยเจตนาเล็งเห็นผลแต่อย่างใด คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ข้อกล่าวหาตกไปเช่นกัน