"135 ต่อ 105 เสียง" คือมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ภายใต้ข้อสังเกตว่า สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ฉีกผลงานตัวเองทิ้ง แต่เหตุผลที่นำมาลบล้างข้อครหาคือ การปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะการจัดตั้งองค์กรพิเศษอย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปรองดองและการปฏิรูปประเทศ (คปป.) กลับทำให้ภาพลักษณ์นั้นดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถตอบคำถามให้เป็นที่ประจักษ์ได้ว่ารู้เห็นเป็นใจที่จะขยายโรดแมปและต่ออายุให้ คสช.หรือไม่
เพราะมตินั้นมีผลให้ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมให้อำนาจ คสช.ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ภายใน 180 วัน โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานขับเคลื่อน ด้วยกรอบที่ตั้งไว้ 5 ด้านและชัดเจนว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างฯกันอยู่นี้จะไม่มีการบัญญัติให้จัดตั้งองค์กรพิเศษขึ้นอีก เพราะกระบวนการลงมตินั้นหมายถึงประชาชนคนไทยทั้งประเทศที่จะร่วมออกเสียงผ่านการทำประชามติ จึงต้องสร้างการยอมรับตั้งแต่ต้นทาง
เมื่อประกาศแล้วว่าจะไม่มีองค์กรเฉพาะหรือองค์กรพิเศษขึ้นมาเพื่อความปรองดองและการปฏิรูป แต่ประเด็นนี้กลับเป็น 1 ใน 5 กรอบที่ คสช.และ กรธ.ร่วมกันกำนดแนวทางไว้ ทำให้หมวดที่ว่าด้วย "หน้าที่ของรัฐ" ที่บัญญัติขึ้นใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถูกจับตามองเป็นกรณีพิเศษ เพราะหากรัฐไม่ปฏิบัติตาม โทษสูงสุดคือการเอาผิดทางอาญา
ส่วนกรอบที่กำหนดให้ต้องมีมาตรการป้องกันการใช้อำนาจทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์และต้องมีแนวทางการขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบนั้น กรธ.ได้สอดแทรกและวางกลไกนี้ผ่านระบบเลือกตั้งเป็นหลัก โดยเฉพาะคุณลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ซึ่งเข้าข่ายสกัดกั้นคนโกง
สำหรับกรอบยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ยึดโยงกับความเป็นสากล แต่สอดคล้องกับสภาพสังคมไทย อาจหมายถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่วางกรอบไว้ 3 เสาหลักคือ บริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ โดยคงระบบรัฐสภาไว้ที่สภาบนและสภาล่างและมีความเป็นไทยอยู่ที่ประชาธิปไตยผ่านตัวแทนด้วยการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตามและกรอบสุดท้าย ต้องสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ย่อมหมายถึงสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งถูกย้ำมาโดยตลอดว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้แตกต่างกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ยังคงให้พลเมืองเป็นใหญ่