แหล่งบ่อน้ำมันในประเทศไทย

7 มี.ค. 55
13:49
5,898
Logo Thai PBS
แหล่งบ่อน้ำมันในประเทศไทย

บริษัทมิตรา เอเนอยี่ ผู้ได้รับสัมปทานขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในย่านพุทธมณฑลสาย 2 เขตทวีวัฒนา จะเริ่มดำเนินการขุดเจาะสำรวจในวันพรุ่งนี้ และคาดว่าแล้วเสร็จภายใน 15 - 20 วัน ซึ่งยังไม่แน่ว่าจะพบปริมาณน้ำมันเพียงพอในเชิงพาณิชย์หรือไม่ แต่ข่าวบ่อน้ำมันนี้ สร้างความสงสัยว่าทำไมกรุงเทพมหานครถึงมีแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิส และจะยังมีพื้นที่ใดของประเทศไทยที่เข้าข่ายมีน้ำมัน

แม้จะมีคำยืนยันจากนายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่าในเขตกรุงเทพมหานครยังไม่พบแหล่งปิโตรเลียมอื่น นอกเหนือไปจากย่านพุทธมณฑลสาย 2 ในเขตทวีวัฒนาที่บริษัทมิตรา เอเนอยี่ ได้รับสัมปทานสำรวจ แต่กระแสข่าวว่ามีโอกาสพบน้ำมันใต้พื้นดินของกรุงเทพ ก็กลายเป็นจุดสนใจและถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย

ต้นกำเนิดของปิโตรเลียมที่มาจากอินทรีย์วัตถุ เช่น สาหร่าย ซากใบไม้ที่ถูกทับถมนับล้านล้านปี ทำให้เกิดเป็นแหล่งน้ำมัน ส่วนการทับถมจนกลายเป็นถ่านหินรวมถึงอุณหภูมิ และแรงดันสูงก็จะกลายเป็นแหล่งก๊าซ ซึ่งผู้อำนวยการสำนักจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติระบุว่าในประเทศไทยมีการพบน้ำมันและก๊าซในบางพื้นที่ เช่น ในภาคกลาง และอ่าวไทยมีชั้นหินอายุ 10 - 30 ล้านปี จึงพบน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ โดยพบมากอยู่ที่แหล่งสิริกิติ์ กำแพงเพชร และพิษณุโลก ขณะที่ในภาคอีสานมักพบก๊าซธรรมชาติ ในชั้นหินปูน ที่อายุ 200 ล้านปี เช่นแหล่งน้ำพอง จังหงัดขอนแก่น สินภูฮ่อม อุดรธานี

การสำรวจปิโตรเลียมจะอาศัยข้อมูลพื้นฐานทางธรณีวิทยาที่ทำให้ทราบเบื้องต้นถึงโครงสร้างแอ่งสะสมตะกอนใต้ดิน และประเมินความเป็นไปได้ที่จะพบน้ำมันและก๊าซ จากนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหน่วยงานหลักที่จะเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียม และเจาะสำรวจ โดยแปลงบนบกจะถูกกำหนดเป็นรูปสี่เหลี่ยมพื้นที่ 3,983 ตารางกิโลเมตรเท่าๆ กัน ตามที่กฎหมายกำหนดให้ไม่เกิน 4,000 ตารางกิโลเมตร ต่างจากสัมปทานในทะเลที่ไม่ได้จำกัดเขตพื้นที่

หลังได้รับสัมปทาน ผู้สำรวจจะใช้วิธีทางธรณีฟิสิกส์ที่ใช้คลื่นไหวสะเทือนตามหลักการสะท้อนของคลื่นเสียงเพื่อทราบโครงสร้างใต้ดินที่ชัดเจนขึ้น และนำไปสู่การเจาะสำรวจซึ่งเป็นวิธีการเดียวที่จะทราบอย่างแน่ชัดว่ามีปิโตรเลียมในจุดนั้นหรือไม่

การเจาะใช้หัวเจาะที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยหลุมละ 30 ล้านบาท แต่ปัจจุบันการสำรวจมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยบริเวณภาคกลางและอ่าวไทยค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 60 - 90 ล้านบาท แต่พื้นที่ภาคอีสานซึ่งเป็นหินแข็ง ต้องใช้เม็ดเงิน 150 - 900 ล้านบาทต่อ 1 หลุม

การเจาะสำรวจยังต้องตรวจสอบอัตราการไหลของน้ำมัน เพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลเชิงพาณิชย์ว่าคุ้มค่ากับการผลิตหรือไม่ ทั้งนี้ การเจาะสำรวจอาจต้องทำมากกว่า 1 หลุม เพื่อทราบรัศมีว่ามีน้ำมันหรือก๊าซเป็นบริเวณกว้างเท่าใด ซึ่งจะช่วยประเมินปริมาณสำรองได้

หลุมเจาะปิโตรเลียมในประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในทะเล ซึ่งตามรายงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ณ เดือนมิถุนายน 2553 ระบุว่ามีการขุดเจาะหลุมสำรวจและหลุมผลิตทั้งหมดเกือบ 6,000 หลุม หรือ ร้อยละ 85 ที่อยู่ในอ่าวไทย ส่วนฝั่งอันดามันมีร้อยละ 1 ที่เหลือเป็นหลุมเจาะบนบกรวม 843 หลุม

ที่ผ่านมาแหล่งปิโตรเลียมในไทยจะมีลักษณะกระเปาะที่ไม่ใหญ่ และทำให้ต้องขุดเจาะมากกว่า หลุม 1 หลุมต่อแห่ง เช่น แหล่งสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีกำลังการผลิตวันละ 25,000 บาร์เรล แต่ต้องขุดเจาะมากกว่า 150 หลุม ต่างจากประเทศแถบตะวันออกกลาง ที่อาจะได้ปริมาณน้ำมันเท่ากันภายในหลุมเดียว

ปริมาณสำรองปิโตรเลียมในไทยทั้งในส่วนที่เจาะสำรวจพบแล้ว และคาดว่าจะพบในอนาคต สำหรับก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 23 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือใช้ได้อีก 20 ปี ส่วนน้ำมันดิบมีเพียง 180 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้ำมันดิบที่ผลิตได้ปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณการใช้ ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศวันละ 700,000 - 800,000 บาร์เรล

คุณภาพน้ำมันที่ขุดได้อยู่ในระดับกลาง ซึ่งเหมาะกับการกลั่นน้ำมันในไทยที่ต้องการน้ำมันดีเซลมากกว่า ขณะที่ก๊าซธรรมชาติก็ถูกนำมาเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า

สำหรับสัมปทานรอบที่ 21 คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือนหน้า รวม 22 แปลงในภาคอีสาน 11 แปลง ภาคกลาง 6 แปลง และอ่าวไทย 5 แปลง โดยแต่ละรอบของสัมปทาน จะมีพื้นที่สัมปทานเดิมถูกคืนมาอย่างน้อยร้อยละ 50 ตามข้อกำหนด กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะนำไปรวมกับพื้นที่ใหม่ ซึ่งคณะกรรมการปิโตรเลียมจะพิจารณาบริษัทที่มีข้อมูล มีแผนงานชัดเจน และมีความเป็นไปได้

ขณะที่สิทธิทรัพยากรปิโตรเลียมใต้ดินตามกฎหมายปิโตรเลียมจะตกเป็นของรัฐต่างจากสหรัฐที่ประชาชนสามารถขุดเจาะได้เอง แล้วจ่ายภาษีให้รัฐ

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง