ขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียม เขตทวีวัฒนา วันนี้
นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า หากผลสำรวจประเมินออกมาว่าปริมาณน้ำมันและก๊าซมีน้อย ไม่คุ้มค่าสำหรับการผลิตเชิงพาณิชย์ บริษัทฯ มิตรา จะคืนสัมปทานกลับมา ซึ่งในอนาคตกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะไม่นำพื้นที่นี้ไปเปิดสัมปทานอีก โดยจะประสานบริษัทผู้รับสัปทาน เร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ หลังจากที่ได้หารือแล้วกับตัวแทนชุมชน และคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบเมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่ตัวแทนชุมชนโดยรอบ กังวลต่อความปลอดภัยด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมเรียกร้องให้ทบทวน รายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ แต่นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องทบทวน เพราะการรับฟังความคิดเห็นเป็นหนึ่งในกระบวนการจัดทำอีไอเอ เพื่อพิจารณาผลดีผลเสีย แต่ไม่ได้มีเงื่อนไขว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องเห็นด้วย แต่ในระหว่างการขุดเจาะ ผู้ให้สัมปทานหรือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติต้องเข้าควบคุมการดำเนินการอย่างใกล้ชิด โดยหากมีการปล่อยมลพิษ หรือการทำงานไม่เป็นไปตามข้อบังคับของกฎหมาย สามารถสั่งระงับการขุดเจาะได้ทันที
ด้านนายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวยืนยันว่าในเขตกรุงเทพมหานคร ยังไม่พบแหล่งปิโตรเลียมอื่น นอกเหนือไปจากย่านพุทธมณฑลสาย 2 ในเขตทวีวัฒนา ที่บริษัทมิตรา เอเนอยี่ ได้รับสัมปทานสำรวจ แต่กระแสข่าวว่ามีโอกาสพบน้ำมันใต้พื้นดินของกรุงเทพ กลายเป็นจุดสนใจและถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย
ส่วนนายศุภฤกษ์ สิตะหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า กรณีที่มีการพบน้ำมันในกรุงเทพ เพราะเคยเป็นอยู่ใต้ทะเลมาก่อน และมีการทับถมของอินทรีย์วัตถุหลายสิบล้านปี เช่นเดียวกับหลายๆ แห่งในประเทศ
การสำรวจปิโตรเลียมจะอาศัยข้อมูลพื้นฐานทางธรณีวิทยา ที่ทำให้ทราบเบื้องต้นถึงโครงสร้างแอ่งสะสมตะกอนใต้ดิน และประเมินความเป็นไปได้ที่จะพบน้ำมันและก๊าซ จากนั้นกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะเปิดประมูลสัมปทาน เพื่อสำรวจเชิงพาณิชย์ จากรายงานของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ระบุว่ามีการขุดเจาะหลุมสำรวจและหลุมผลิตทั้งหมดประมาณ 6,000 หลุม หรือ ร้อยละ 85 ที่อยู่ในอ่าวไทย ส่วนฝั่งอันดามันมีร้อยละ 1 ที่เหลือเป็นหลุมเจาะบนบกรวม 843 หลุม ที่ผ่านมาแหล่งปิโตรเลียมในไทย จะมีลักษณะกระเปาะที่ไม่ใหญ่ และทำให้ต้องขุดเจาะมากกว่า หลุม 1 หลุมต่อแห่ง เช่น แหล่งสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ที่มีกำลังการผลิตวันละ 25,000 บาร์เรล แต่ต้องขุดเจาะมากกว่า 150 หลุม ต่างจากประเทศแถบตะวันออกกลาง ที่อาจจะได้น้ำมันปริมาณเท่ากันภายในหลุมเดียว
ทั้งนี้ไทยมีน้ำมันดิบสำรองที่คาดว่าจะขุดขึ้นมาใช้ได้อีก 180 ล้านบาร์เรล โดยแต่ละวันกำลังผลิตคิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณการใช้ ทำให้ต้องนำเข้าวันละ 700,000-800,000 บาร์เรล ส่วนก๊าซธรรมชาติสำรองใต้พิภพเหลือประมาณ 23 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือใช้ได้อีก 20 ปี กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีการให้สัมปทานสำรวจแหล่งพลังงาน และในเดือนหน้าจะมีการให้สัมปทานรอบที่ 21 โดยจะประมูล 22 แปลง ทั้งในภาคอีสาน ภาคกลาง และอ่าวไทย โดยแต่ละรอบของสัมปทาน จะมีพื้นที่สัมปทานเดิม ถูกคืนมาอย่างน้อยร้อยละ 50 ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะนำไปรวมกับพื้นที่ใหม่และนำกลับมาประมูล