นางประริตา คำนวณ มารดาของเด็กหญิงอายุ 6 ขวบที่มีความผิดปกติทางด้านสายตา เล่าว่า ตนเองได้นำลูกมาปรึกษากับแพทย์ทันที หลังพบว่าลูกเริ่มมีอาการบ่งชี้ถึงความผิดปกติด้านสายตา โดยลูกจะบอกว่ามองไม่ค่อยชัดเจน ปวดหัว และขยี้ตาบ่อยครั้ง
ขณะที่ รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ รองคณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า การตรวจวัดสายตาสำหรับเด็กจำเป็นต้องมีการหยอดยาคลายการเพ่ง ซึ่งการตรวจวัดสายตาทั่วไปมักจะละเลยขั้นดังกล่าว จึงทำให้ค่าวัดสายตาคลาดเคลื่อนและได้ค่าของสายตาสั้นเทียมแทน
สำหรับอาการสายตาสั้นเทียมที่เกิดจากการเพ่งหรือเล่นสมาร์ทโฟนติดต่อเป็นระยะเวลานาน หากเด็กต้องสวมแว่นที่เกินค่าสายตาจริง จะมีผลทำให้สายตาสั้นเทียมพัฒนาเป็นสายตาสั้นจริงได้ ทั้งนี้ เด็กไทยมีภาวะสายตาผิดปกติร้อยละ 6.6 จำเป็นต้องใส่แว่นสายตาประมาณ 2,600,000 คนทั่วประเทศ มีสายตาสั้นเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 20-30 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
รศ.นพ.ศักดิ์ชัย ตั้งข้อสังเกตว่าในจำนวนนี้อาจจะเป็นแค่สายตาสั้นเทียมที่เกิดจากการเพ่งหรือเล่นโทรศัพท์เท่านั้น ซึ่งอาการจะค้างอยู่ประมาณ 1 วัน หรือขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเล่นของเด็กแต่ละคน หากจะตรวจวัดสายตาควรตรวจกับจักษุแพทย์เท่านั้น เพราะกฎหมายอนุญาตให้จักษุแพทย์เท่านั้นที่เป็นผู้ให้ยาที่สำคัญบางตัว รวมทั้งเป็นขั้นตอนที่ทำให้ได้ค่าวัดสายตาที่แม่นยำที่สุด