เครือข่ายแรงงานหญิงเรียกร้องนายกฯตั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสำหรับผู้ใช้แรงงาน
ทุกๆ เช้า ทองเลื่อม เทพเจิรญ จะต้องพาลูกชายวัย 3 ขวบเศษ มาฝากเลี้ยงที่ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยลูกของแรงงาน ก่อนไปทำงานในโรงงานทอผ้า ซึ่งอยู่ในละแวกที่ไม่ไกลจากนี้มากนัก เช่นเดียวกับ แรงงานหญิงอีกหลายคนที่ต่างทยอยพาลูกมาฝากเลี้ยงที่ศูนย์แห่งนี้ตั้งแต่เช้า หลายคนบอกว่าศูนย์เลี้ยงเด็กช่วยให้พวกเขาทำงานได้อย่างสบายใจมากขึ้น ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องความปลอดภัยของลูก ขณะเดียวกัน ก็อยู่ใกล้ที่ทำงาน สามารถนำมาฝากเลี้ยงได้ตั้งแต่เวลา 6.45 - 17.00 น. ในช่วงวันจันทร์ - วันเสาร์ ซึ่งสะดวก และสอดคล้องกับเวลาการทำงานของผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ แทนที่จะต้องส่งลูกกลับไปให้ตายายเลี้ยงในต่างจังหวัด
เสื้อการ์ตูนเบนเทนตัวนี้เป็นของขวัญที่ สายน้อย พรมมี แรงงานย่านอ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐมเตรียมซื้อไปฝากลูกชายวัย 6 ขวบ ที่จังหวัดสุโขทัยในวันหยุดสงกรานต์ที่จะถึงนี้ เธอไม่มีโอกาสได้เลี้ยงและอยู่กับลูก เพราะต้องฝากยายเลี้ยงตั้งแต่แรกเกิด เสื้อยืดตัวนี้ จึงเป็นสิ่งที่ชดเชยความคิดถึงที่ผู้เป็นแม่พอจะทำให้กับลูกได้ แม้ว่าต้องทำงานครึ่งวันเพื่อนำเงินมาซื้อเสื้อ สายน้อย มีโอกาสพบหน้าลูกปีละ 4 ครั้ง เพราะค่าจ้างวันละ 258 บาท ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่เธอต้องแบกรับ สายน้อยจึงต้องขยันทำโอที
ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยลูกของแรงงานเป็นแห่งเดียวที่อยู่ในย่านอุตสาหกรรม และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถูกผลักดันให้เป็นศูนย์นำร่อง มาตั้งแต่วันสตรีสากล ปี2547 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในที่อื่นๆ ขณะที่สถานประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญในการเปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เช่นเดียวกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของท้องถิ่นที่มีอยู่น้อย และไม่สอดคล้องวิถีชีวิตของคนงาน
เครือข่ายแรงงานหญิงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมีนโยบายที่ชัดเจนในการส่งเสริมให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสำหรับผู้ใช้แรงงาน ในย่านชุมชน และพื้นที่อุตสาหกรรม หรือขยายเวลาการเปิดศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ใช้แรงงาน โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน นายจ้าง และท้องถิ่น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานหญิง ให้มีครอบครัวที่อบอุ่น และสามารถทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ