ยังไม่ชัดเจนว่ารูปแบบหรือกลไกที่จะใช้ในการสร้างความปรองดองจะออกมารูปแบบใด แต่แนวทางการตั้งกรรมการปรองดองที่นายกรัฐมนตรีกำลังให้ฝ่ายกฏหมายศึกษาอยู่ รวมถึงการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเสริมสร้างสังคมสันติสุขของ สนช.นั้น รศ.ยุทธพร อิสรชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ไม่เชื่อว่าจะสามารถสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นได้ รวมถึงการออกกฏหมายนิรโทษกรรม
รศ.ยุทธพร เชื่อว่า หลักการสำคัญที่จะช่วยสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นอยู่ที่การสร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งพิสูจน์ได้จากในอดีตที่มีการตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานในลักษณะนี้ขึ้นมา หรือแม้แต่ความพยายามที่จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมในสมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จและยังมีความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ได้กำหนดแนวทางการสร้างความปรองดองในอนาคตไว้ในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำอยู่ขณะนี้ แต่รับว่ายังไม่ได้ระบุกลไกที่จะสลายความขัดแย้งที่ผ่านมาในร่างรัฐธรรมนูญ แต่หากรัฐบาลตั้งกรรมการขึ้นมาทำเรื่องนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องบัญญัติกลไกใดๆไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอีก
วันนี้ (10 ม.ค.2559) นายมีชัย พร้อมด้วยกรรมการ กรธ.เดินทางไป อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เพื่อประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญลงรายมาตรา ระหว่างวันที่ 10-17 ม.ค.2559 โดยระบุว่าล่าสุด กรธ.เห็นตรงกันในหลักการแทบทุกประเด็นแล้ว โดยระหว่างวันที่ 10-17 ม.ค.นี้จะดูถ้อยคำและความสมบูรณ์ทั้งหมด ซึ่งการพิจารณาครั้งนี้จะเปิดให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังด้วย