ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชในประเทศไทย
ชายคนนี้มีอวัยวะครบ 32 ดูภายนอกคล้ายกับคนจรจัด สติไม่ดี แต่ไม่มีใครสามารถระบุได้ว่า เขามีอาการทางจิตจริงหรือไม่ แต่ด้วยสภาพร่างกายที่ขะมุกขะมอม เก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร และพูดคุยคนเดียว อาการทั้งหมดนี้เข้าข่ายในลักษณะของผู้ที่มีอาการทางจิต ตามที่จิตแพทย์ระบุไว้
ทีมข่าวได้เฝ้าสังเกตการณ์พฤติกรรมของเขาตลอดทั้งวัน พบว่าเขาจะเดินไปมาตามถนน รวมถึงเขตชุมชน ทั้งโรงเรียน ห้างสรรพสินค้า แม้จะไม่ได้สร้างความเดือดร้อน หรือเข้าไปทำร้ายใคร แต่สร้างความตระหนกให้กับผู้ที่ผ่านไปมา โดยเฉพาะผู้ที่จำเป็นต้องใช้เส้นทางนี้เป็นประจำ และเขาไม่ใช่ผู้ป่วยข้างถนนเพียงคนเดียวที่อาศัยอยู่ที่ป้ายรถประจำทางแห่งนี้
ทีมข่าวจึงตัดสินใจโทรศัพท์แจ้งตำรวจให้มาดำเนินการนำตัวผู้ป่วยรายนี้ไปส่งโรงพยาบาลตามพระราชบัญญัติกรมสุขภาพปี 2551 ที่ระบุว่า หากผู้ใดพบบุคคลซึ่งมีพฤติกรรม อันน่าเชื่อว่ามีความผิดปกติทางจิต ให้แจ้งตำรวจทันที เพื่อให้นำตัวส่งมารักษาต่อที่โรงพยาบาล แต่ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
แพทย์ผู้ชำนาญการ โรงพยาบาลศรีธัญญา เปิดเผยว่า จากสถิติข้อมูลด้านการรักษาพบว่าเฉลี่ยแล้วจะมีผู้ป่วยด้านจิตเวชประมาณร้อยละ 1 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 600,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการรุนแรง ยกเว้นไม่ได้รับการรักษาต่อเนื่องหรือป่วยเพราะการใช้ยาเสพติด ก็จะมีอัตราความเสี่ยงที่จะใช้ความรุนแรงได้มาก
ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการทางจิตได้ ต้องประกอบด้วย 3 ฝ่าย คือ ทางด้านชีวภาพ เช่น กรรมพันธุ์ ความเจ็บป่วยในอดีต เช่น ศีรษะกระแทก และยาเสพติด ด้านจิตใจ เริ่มตั้งแต่การดูแลตั้งแต่ตั้งครรภ์ของแม่ การเลี้ยงดู และด้านครอบครัว สังคม สภาพแวดล้อม หากได้รับการรักษาต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่จะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ
จากสถิติของกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2554 มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในสังกัดกว่า 1,090,000 คน ในจำนวนนี้ เข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ ซึ่งเป็นสถานที่รองรับผู้ป่วยที่มีปัญหาในด้านคดีมากถึง 40,799 คน เป็นคดีที่รุนแรงทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ชีวิต 21 คน ทำร้ายร่างกาย 14 คน และพยายามฆ่า 8 คน และในสังคมยังคงมีผู้ป่วยอีกเป็นจำนวนมากที่อยู่ข้างถนน ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าวันหนึ่งพวกเขาจะกลายเป็นฆาตกรที่ลงมือไปโดยไม่รู้ตัวหรือไม่