ตรวจพบสารตะกั่วในเด็กที่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก คาดปนเปื้อนจากภาชนะโลหะ
เมื่อปี พ.ศ.2553 แพทย์จากโรงพยาบาลเด็ก ได้ร่วมกับโรงพยาบาลอุ้มผาง สุ่มตรวจเลือดเด็ก 220 คน จาก 7 หมู่บ้านในพื้นที่ 2 ต. คือ ที่ต.อุ้มผาง และต.แม่จัน อ.อุ้มผาง พบสารตะกั่วสูงเกินมาตรฐาน 138 คน หลังจากนั้น มีการสุ่มตรวจอีกครั้งในปี พ.ศ. 2554 พบว่า ยังมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63 ที่มีสารตะกั่วสูง ในจำนวนนี้มีเด็ก 12 คน ที่มีระดับสารตะกั่วสูงมาก จนโรงพยาบาลอุ้มผางต้องนำเข้ารับการรักษาด้วยการให้ยาขับพิษตะกั่ว
แม้หน่วยงานด้านสาธารณสุข จะตรวจพบปัญหานี้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว แต่จนถึงปัจจุบันชาวบ้านยังไม่ได้รับข้อมูลหรือคำแนะนำในการป้องกันตัว
แม้จะพยายามฝึกให้พูดประโยคสั้น ๆ แต่ ด.ญ.ริษฎา ก็พูดได้เพียงทีละพยางค์เท่านั้น ประกอบกับร่างกายที่เล็ก และพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กวัย 3 ขวบคนอื่น ๆ ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า เป็นผลกระทบจากสารตะกั่วหรือไม่ แต่ผลการตรวจเลือดที่พบปริมาณสารตะกั่วสูงถึง 27.22 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ก็ทำให้ด.ญ.ริษฎา จึงต้องได้รับการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
ในห้องเรียนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านยะโม่คี มีเด็ก 11 คน ถูกสุ่มตรวจพบว่ามีสารตะกั่วในเลือดสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่ เกิน 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร แต่สำหรับ ด.ญ.กันติยา แสนพันธ์ ซึ่งยังไม่ได้รับการตรวจเลือด ครูจึงกำลังสงสัยว่า เธออาจจะเป็นเด็กอีกคนหนึ่งที่มีความผิดปกติจากสารตะกั่ว เพราะการเรียนรู้ที่ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน
หมู่บ้านยะโม่คี ตั้งอยู่ใน อ.อุ้มผาง จ.ตาก ที่นี่เป็นหมู่บ้านหนึ่งใน จำนวน 7 หมู่บ้านชายแดน ที่ถูกสุ่มตรวจหาการปนเปื้อนของสารตะกั่วในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ จากการตรวจเด็ก 220 คน พบ ว่ามีตะกั่วเกินเกณฑ์มาตรฐาน 138 คน ถ้าการสุ่มตัวอย่างไม่ผิดพลาด นั่นหมายถึง เด็กชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านตามแนวชายแดนกว่าร้อยละ 63 กำลังมีปัญหาสุขภาพจากสารตะกั่ว
ด.ญ.กันติยา น้องสาวของ ด.ช.เอกพงษ์ แสนพันธ์ ซึ่งถูกตรวจพบว่ามีตะกั่วในเลือดสูง 26.62 ไมโครกรัม ต่อเดซิลิตร ครอบครัวนี้มีลูก 2 คน แม้ว่าลูกสาวคนเล็กจะยังไม่ได้รับการตรวจร่างกาย แต่การอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ก็ทำให้ นายสุริยา แสนพันธ์ ผู้เป็นพ่อค่อนข้างมั่นใจว่า ลูกสาวต้องมีสารตะกั่วปนเปื้อนในเลือดไม่ต่างกับลูกชาย แต่สิ่งที่เขาไม่รู้และได้แต่สันนิษฐานก็คือ ตะกั่วที่ปนเปื้อนในเด็กกว่า ครึ่งหมู่บ้าน มาจากไหน
โดยที่ภายในบ้านของนายสุริยาก็มีแบตเตอร์รี่สำหรับชาร์ตไฟจากแผงโซล่าเซล เหมือนกับบ้านทุกหลังตามแนวชายแดน
นอกจากนั้นภาชนะโลหะที่มีพ่อค้านำมาขายจากฝั่งประเทศพม่า ก็เป็นสิ่งที่ถูกตั้งข้อสงสัยจาก วัลลีย์ คุณยศ พยาบาลวิชาชีพ รพ.อุ้มผาง จ.ตาก ว่าอาจมีการปนเปื้อนของสารตะกั่ว
เกือบทุกหมู่บ้านมีร้านค้าที่นำหม้อ และกระทะ ที่ตรวจพบสารตะกั่วมาขายเสียงและบ้านทุกหลังตามแนวชายแดนยังคงใช้ภาชนะเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน