สภาการศึกษาทางเลือกเสนอเพิ่มหลักสูตรทางเลือกในหลักสูตรแกนกลาง
การประชุมสมัชชาการศึกษาทางเลือกครั้งที่ 2 ประจำปี 2554 มีการมองว่าหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2551 เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้นักเรียนต้องออกจากการศึกษาภาคบังคับ หรือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีละกว่า 200,000 คน หลังพบว่าเนื้อหาในหลักสูตรมีลักษณะของการยัดเยียดให้เรียนมากเกินไป บางวิชาแม้เด็กจะไม่ถนัด แต่ต้องเรียนตามหลักสูตร เพื่อหวังผลในการสำเร็จการศึกษา และสอบแข่งขัน
ขณะที่หลักสูตรภาคบังคับที่มี 8 กลุ่มสาระหลัก ยังคงมุ่งเน้นแต่ภาคทฤษฎี และวิชาการ โดยไม่คำนึงถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้นักเรียนไม่มีทักษะในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งนายศิลวัต ศุษิลวรณ์ กรรมการสภาการศึกษาทางเลือก บอกว่า การศึกษาทางเลือกไม่ถูกยอมรับจากกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นอุปสรรคในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรแกนกลาง และแม้โรงเรียนทางเลือก จะจัดหลักสูตรที่เน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ แต่ก็ยังติดปัญหาตัวชี้วัดที่อ้างอิงจาก 8 กลุ่มสาระมากเกินไป
สภาการศึกษาทางเลือกจึงเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการยืดหยุ่นการจัดหลักสูตร โดยควรเพิ่มหลักสูตรการศึกษาทางเลือกที่เน้นความถนัดการเรียนรู้ใช้ชีวิต เข้าไปอยู่ในการศึกษากระแสหลัก เพิ่มสัดส่วนโรงเรียนทางเลือกให้มากขึ้น ขณะที่ตัวชี้วัดควรปรับให้ตัวชี้วัดด้านวิชาการ และประสบการณ์ในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน รวมถึงให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นกลไกสำคัญที่มีบทบาทสำคัญในการปฏิรูปการศึกษา