จับตาพม่า โอกาสและคู่แข่งหน้าใหม่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย
กล่าวถึง ”พม่า” ในเวลานี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นประเทศที่น่าสนใจ ในฐานะแหล่งลงทุนแหล่งใหม่ที่มีศักยภาพสูงในกลุ่มอาเซียน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พม่าเป็นหนึ่งประเทศที่น่าพิจารณาไปลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สำหรับผู้ประกอบการที่พยายามมองหาฐานการผลิตเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและรักษาความอยู่รอดของธุรกิจ กล่าวคือ
- ในปัจจุบันบทบาทของไทยต่อพม่ายังอยู่ในสถานะคู่ค้า ซึ่งโอกาสสำหรับการทำการค้ากับพม่าส่วนใหญ่จะตกไปอยู่ที่กลุ่มสินค้าสิ่งทอ ซึ่งไทยครองตำแหน่งแหล่งนำเข้าอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงทุกปี เนื่องจากอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มของพม่ามีทิศทางแนวโน้มขยายตัว และนำไปสู่ความต้องการสินค้าสิ่งทอเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเพิ่มขึ้น ในขณะที่การค้าเครื่องนุ่งห่มระหว่างไทยกับพม่าขยายตัวเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน จากความนิยมในสินค้าไทยของชาวพม่า และกำลังซื้อที่มีเพิ่มขึ้นจากนโยบายเพิ่มรายได้ของภาครัฐ
- ส่วนในภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่ม พบว่า พม่าเริ่มเพิ่มดีกรีความร้อนแรงมากขึ้น จากแนวโน้มจากประเทศผู้ผลิตอื่นๆ รวมถึงไทย ที่ต้องการกระจายความเสี่ยงด้านการผลิต ให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในพม่าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเงื่อนไขที่สำคัญ คือ ต้นทุนการผลิตและค่าจ้างแรงงานอยู่ในระดับต่ำที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ที่อยู่ในสถานะฐานการผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม จากปัจจัยดังกล่าวมาในข้างต้น ทำให้คาดว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยไปพม่าในปี 2555 น่าจะพุ่งไปอยู่ที่ระดับ 245-255 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 30-35 (YoY)
สำหรับประเด็นที่พึงระวังในการทำธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในพม่า พบว่า แม้ว่าพม่าจะมีจุดเด่นหลายอย่างที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ แต่คงต้องยอมรับว่ายังมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อยที่สร้างความกังวลแก่ผู้ประกอบการ อาทิ แรงงานส่วนใหญ่ยังให้ความสนใจเข้ามาทำงานในฝั่งไทย ทำให้พม่ายังคงขาดแคลนแรงงานในประเทศ อีกทั้งพม่ายังต้องอาศัยเงินทุน ความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีจากต่างชาติ ในการพัฒนากระบวนการผลิตและฝีมือแรงงานประเทศให้มีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ สถานะปัจจุบันพม่าก็ยังอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรของสหรัฐฯและสหภาพยุโรป ที่แม้ว่าหลายฝ่ายเชื่อว่า กลุ่มประเทศตะวันตกจะทยอยยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งในเดือนเมษายนนี้ แต่ยังไม่สามารถบอกได้อย่างชัดเจนว่า มาตรเหล่านี้จะสิ้นสุดอย่างเป็นทางการในเวลาใด ทำให้บทบาทในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกของพม่ายังค่อนข้างน้อยในเวทีการค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโลก ซึ่งพม่าอาจจะต้องอาศัยเวลาอีกสักระยะในการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศ
ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นของนักลงทุนบางส่วนที่กังวลต่อระบบการปกครอง เศรษฐกิจ และระบบการเงินในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ตลอดจนข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอและกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา ปัจจัยเหล่านี้ยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อระบบการผลิตและการติดต่อทำการค้าเพื่อส่งออก
ประเด็นจับตาที่น่าสนใจที่สุดในระยะต่อไป คงอยู่ที่ว่าหากทางพม่าสามารถลดข้อจำกัดดังกล่าวเป็นผลสำเร็จ ก็จะยิ่งชักจูงผู้ประกอบการให้เข้ามาทำการค้าการผลิตได้เต็มศักยภาพมากขึ้น ซึ่งล่าสุดพม่าได้ประกาศที่จะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว โดยจะเริ่มต้นกระบวนการลอยตัวค่าเงินจ๊าดในเดือนเมษายน 2555 นี้ ซึ่งแสดงถึงพัฒนาการเชิงบวกของพม่าที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนมากขึ้น
นั่นก็หมายความว่า พม่าอาจจะมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะก้าวเข้ามาเป็นคู่แข่งที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดดและทัดเทียมกับไทย เฉกเช่นเวียดนามในระยะที่ผ่านมาได้ ซึ่งผู้ประกอบการของไทยควรจะจับตาอย่างใกล้ชิด และต้องเร่งวางแผนการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมองหาพันธมิตรทางการค้าและช่องทางขยายตลาดใหม่ๆในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษใกล้ชายแดนไทย ซึ่งน่าจะเอื้ออำนวยให้ธุรกิจไทยสามารถเข้าไปดำเนินธุรกิจในพม่าได้อย่างสะดวกมากขึ้น