ชาวบ้านชายแดนตื่นตัวกลัวสารตะกั่ว เลี่ยงใช้ภาชนะด้อยคุณภาพ
ชาวกะเหรี่ยงและชาวบ้านตามแนวชายแดนไทย -พม่า ทางภาคเหนือ อาทิ จังหวัดตาก เชียงใหม่ และน่าน หันมาเลือกซื้อและใช้ภาชนะที่ผลิตภายในประเทศ และมีเครื่องหมายรับรองมาตราฐานอุตสาหกรรมกันมากขึ้น หลังหน่วยงานด้านสาธารณสุข ยืนยันผลการตรวจแหล่งที่มาของสารตะกั่วที่ตกค้างในร่างกายชาวกะเหรี่ยงในอำเภออุ้มผางเกินค่ามาตรฐานว่า มาจากหม้อแขกและกะทะ ที่ผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน โดยในกระทะ พบมีสารตะกั่วปนเปื้อนถึง 773 - 859 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนหม้อแขกพบสารตะกั่ว 361-452 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่ตามประกาศของกระทรวงสาธารณะสุขฉบับที่ 92 ปี 2528 กำหนดมาตรฐานของภาชนะหุงต้ม มีปริมาณตะกั่วละลายออกมาไม่เกิน 5 มิลลิกรัมต่อลิตร
ขณะที่สาธารณสุขอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก แจ้งเตือนผู้ที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน ให้หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะปรุงอาหารที่ผลิตจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มผู้หนีภัยการสู้รบที่นิยมใช้หม้อแขก และ กะทะที่มีราคาถูก เนื่องจากจะเกิดสารตะกั่วตกค้างในร่างกายและส่งผลต่อพัฒนาการโดยเฉพาะเด็ก
ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลอุ้มผาง ได้สุ่มตรวจร่างกายของชาวกะเหรี่ยงกว่า 200 คนในตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง พบว่า มีเด็ก 12 ราย มีสารตะกั่วในเลือด 40 - 45 ไมโครกรัม ต่อเดซิลิตร จากค่ามาตรฐานที่กรมควบคุมโรคกำหนดไว้ไม่เกิน 10 - 45 ไมโครกรัม ต่อเดซิลิตร และตรวจสอบจนพบแหล่งที่มาที่ทำให้เกิดสารตะกั่วตกค้างในร่างกาย เพื่อแจ้งเตือนถึงอันตรายต่อประชาชน