ปฏิกิริยาต่อคำสั่ง คสช.4/2558 : กรมป่าไม้ยันปฏิบัติหน้าที่เคร่งครัด-นักกฎหมายชี้เปิดช่องทหารละเมิดสิทธิ
คำสั่ง คสช.ที่ 4/2558 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวานนี้ (8 เม.ย.2558) ระบุเหตุผลถึงการออกคำสั่งว่า ปัจจุบันยังมีการฝ่าฝืนกฎหมายที่คุ้มครองประโยชน์สาธารณะเป็นจำนวนมากและการบังคับใช้กฎหมายยังเป็นไปอย่างไม่เคร่งครัดและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปประเทศและก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในเรื่องต่างๆ เช่น การบุกรุกที่สาธารณะ ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องกำหนดมาตรการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย
คำสั่งนี้ให้อำนาจรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทหาร โดยแจ้งความประสงค์ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ได้รับมอบหมายจะมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายนั้น รวมทั้งให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้เจ้าพนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นจะต้องดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารในการบังคับใช้กฎหมาย หากขัดขืนหรือไม่ให้ความร่วมมือจะถือว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรง
ภายหลังมีคำสั่งดังกล่าว นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ อธิบดีกรมป่าไม้ ได้ชี้แจงถึงการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ว่า กรมป่าไม้ยังคงต้องปฏิบัติภารกิจหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่เดิมโดยเคร่งครัด และอธิบายเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ป่าไม้และเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารได้ร่วมปฏิบัติงานกันอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแต่ระดับหัวหน้าชุดปฏิบัติการขึ้นไปได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้อยู่ก่อนแล้ว
นายธีรภัทรกล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทหารมีอำนาจดำเนินการเกี่ยวกับการในการดำเนินการเกี่ยวกับการบุกรุกป่าอยู่แล้วตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการทำลายทรัพยากรป่าไม้
ขณะที่นายสุรชัย ตรงงาม นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ให้ความเห็นว่าการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2558 แง่หนึ่งมองได้ว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐตามกลไกปกติไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอจึงต้องใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเข้าไปหนุนเสริม อีกด้านหนึ่งเนื้อหาในคำสั่งนี้ ได้ให้เครื่องมือแก่ทหารอย่างกว้างขวางในทุกเรื่องนอกเหนือจากเรื่องความมั่นคงตามที่กฎอัยการศึกเคยให้อำนาจไว้ โดยเฉพาะประเด็นทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายสุรชัยตั้งข้อสังเกตว่าคำสั่งที่ 4/2558 เป็นการทำให้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ทหารใดๆ ที่อาจละเมิดสิทธิชุมชนในประเด็นทรัพยากรมีมากขึ้น โดยไม่ต้องมีความรับผิดต่อประชาชนดังเช่นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายปกติ ซึ่งความในมาตรา 44 ได้เขียนไว้ให้การปฏิบัติการภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น ตัวอย่างกรณีที่ผ่านมาที่บ้านนามูล-ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ทหารใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกเข้าไปจัดกำลังรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้ประกอบกิจการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมโดยอ้างเหตุด้านความมั่นคง
นายสุรชัยระบุว่าในมุมมองของนักกฎหมาย การออกคำสั่งนี้จะเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนได้โดยง่าย รวมทั้งลิดรอนสิทธิในการตรวจสอบหลากหลายรูปแบบ