วันนี้ (25 ม.ค.2559) นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุถึงผลการหารือร่วมกับแกนนำชาวสวนยางภาคเหนือและภาคอีสาน หลังเข้ารับฟังแนวนโยบายการรับซื้อยางของรัฐบาลว่า กระทรวงเกษตรฯร่วมกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) จะจัดจุดรับซื้อน้ำยางพาราปริมาณ 100,000 ตัน จากเกษตรกรรายย่อยโดยตรงในพื้นที่ภาคใต้จำนวน 2,000 แห่ง ภาคเหนือ และ อีสานจำนวน 1,000 แห่ง โดยจะรับซื้อ ไม่เกินรายละ 150 กิโลกรัม ซึ่งจะเริ่มรับซื้อได้ในวันที่ 25 ม.ค.นี้
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้เกษตรกรมีรายได้ที่นอกเหนือจากยางพารา กระทรวงเกษตรฯได้มีมาตรการผ่านทั้ง 15 โครงการ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
นายสาย อิ่นคำ คณะกรรมการบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องจำใจยอมรับราคาที่รัฐบาลกำหนดให้ราคาการซื้อยางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ที่ราคา 45 บาท แต่เข้าใจถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอยและเข้าใจถึงภาวะการรับซื้อของภาครัฐบาลว่าหากรับซื้อในขณะนี้และไม่สามารถระบายออกได้ก็จะทำให้เกิดผลกระทบในระยะยาว แต่สิ่งที่อยากฝากให้รัฐบาลแก้ไขคือการเข้าไปดูแลเรื่องสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่มีแนวโน้มลดลง เช่น ราคาปลากระป๋องและบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นอาหารหลักของเกษตรกร และหากเศรษฐกิจดีขึ้นก็อยากให้ภาครัฐบาลเพิ่มสัดส่วนการรับซื้อยางพาราเพื่อใช้ในประเทศ เป็นร้อยละ 40 จากปัจจุบันอยู่ร้อยละ 14 ของปริมาณการผลิตรวมทั้งปี เพราะเชื่อว่าตลาดโลกยังต้องการยางธรรมชาติในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่ปริมาณยางพาราภาคเหนือและภาคอีสานขณะนี้มีอยู่ประมาณร้อยละ 80 ที่สามารถจำหน่ายให้รัฐบาลได้ในโครงการนี้ จึงอยากเสนอให้รัฐบาลเปิดรับซื้อในภาคเหนือและภาคอีสานก่อนวันที่ 25 ม.ค. เนื่องด้วยสภาพอากาศของพื้นที่ปลูกยางภาคเหนือและภาคอีสาน ส่งผลต่อการกรีดยางของเกษตรกรที่สามารถกรีดยางและน่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเพียงในช่วงวันที่ 15 ก.พ.นี้เท่านั้น
ส่วนกระแสข่าวก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า มาตรการรับซื้อยางพาราของรัฐบาลจะทำให้เกษตรกรสวนยางภาคเหนือและภาคอีสานไม่สามารถขายยางให้องค์การคลังสินค้าได้นั้น ตัวแทนเกษตรกรจากภาคเหนือและภาคอีสาน ยืนยันว่า จะมีขายให้แก่รัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะเกษตรกรจะปิดกรีดยางในช่วงกลางเดือน ก.พ. - มี.ค.