สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) อ่านแถลงการคัดค้าน พร้อมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อระงับการพิจารณาร่างกฎหมายการพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ หรือบรรษัทแห่งชาติ หลังตั้งข้อสังเกตว่าพบความเชื่อมโยงหลายมาตราสุ่มเสี่ยงนำไปสู่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจอย่างแยบยล
หากกางร่างกฎหมายฉบับนี้ในมาตรา 13, 48, 52 และ 53 กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจที่จะแต่งตั้งขึ้นใหม่ สามารถโอนรัฐ แยก ยุบ เลิก รัฐวิสาหกิจ หรือเปลี่ยนแปลงสัดส่วนในหุ้นที่บรรษัทถือครองจนพ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ หรือทำให้รัฐวิสาหกิจเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
หรือแม้กระทั่งร่างกฎหมายจะกำหนดห้ามไม่ให้ลดสัดส่วนการถือหุ้นรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าสัดส่วนที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ หรือพ้นจากสถานะความเป็นรัฐวิสหกิจ แต่กลับเขียนต่อท้ายในมาตราเดียวกันว่า "เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี" ในขณะที่ทั้งโครงสร้างของ คนร.และ ครม.ล้วนเป็นสัดส่วนจากนักการเมือง ข้าราชการและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งอาจเกิดการแทรกแซงเหมือนในอดีต
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ในฐานะประธานอนุกรรมการการเตรียมความพร้อมจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือซูเปอร์โฮลดิ้ง กล่าวว่า หากพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นจุดๆอาจสร้างความเชื่อมโยงและเข้าใจผิดต่อสาระสำคัญ ทั้งที่กฎหมายต้องการสร้างระบบธรรมภิบาล การถ่วงดุล ตรวจสอบรัฐวิสาหกิจ ไม่มีเจตนาแปรรูปรัฐวิสาหกิจและยังคงสภาพการจ้างงานของพนักงานรัฐวิสาหกิจ และย้ำว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ทำเพื่อการปฏิรูป ไม่ใช่การแปรรูป
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน คนร.ชุดปัจจุบัน เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.บรรษัทแห่งชาติ จะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งคาดว่าจะบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ประมาณเดือนสิงหาคม 2559 ก่อนเข้าสู่กระบวนการจัดตั้งบรรษัทแห่งชาติ โดยบรรษัทแห่งชาติจะทำหน้าที่เป็นเจ้าของรวมศูนย์รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 12 แห่ง ก่อนโอนหุ้นให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือ เพื่อรักษาอำนาจการเข้าบริหารจัดการและถ่วงดุลอำนาจ หวังสร้างความโปร่งใสให้รัฐวิสาหกิจ
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งปัจจุบันทำหน้าที่กำกับรัฐวิสาหกิจโดยตรง จะปรับบทบาทเป็นผู้ให้คำปรึกษาและประสานงานระหว่างบรรษัทแห่งชาติ กระทรวงการคลังและหน่วยงานเจ้าสังกัดรัฐวิสาหกิจ แต่ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและคณะรัฐมนตรี เพื่อรักษาเอกภาพและให้รัฐวิสาหกิจเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ศักยภาพและความมั่นคั่งที่มีอยู่ช่วยมีส่วนพัฒนาประเทศต่อไป