เสรีภาพในการโหวตรายการ
แม้จะถูกขู่ฆ่าจากสาเหตุของการเป็นสตรีที่แข่งกับผู้ชาย แต่ความสามารถในการร่ายบทกลอน ทำให้ ฮิสซา ฮีลาล ชนะใจผู้ชมในรายการ "Million's Poet" เรียลิตี้โชว์ ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ให้คนหนุ่มสาวมาแข่งขันอ่านกลอนโบราณของอาหรับ ซึ่งทำเรตติ้งแซงการถ่ายทอดกีฬายอดนิยมของประเทศอย่างฟุตบอลมาแล้ว
ความต้องการรับชมรายการที่แตกต่างจากสถานีโทรทัศน์ของรัฐทำให้มีการติดตั้งจานดาวเทียมมากขึ้น และช่องทางนี้ก็มีรายการเรียลิตี้ให้ได้ชมมากมาย ที่ผู้ชมสามารถโหวตให้กับผู้ที่ต้องการสนับสนุนได้อย่างเสรี เช่นรายการ "Green Light" ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่แข่งขันทำความดีภายใต้เวลาและเงินที่จำกัดตามวิถีอิสลาม หรือ อิรักที่บอบช้ำจากสงครามหลายปี ก็มีรายการแข่งกันซ่อมบ้านที่ทรุดโทรมในชื่อ "Materials and Labor" จนถึงโอกาสที่หาไม่ได้บ่อยนักอย่างการยลโฉมสาวงามในการประกวด "Miss Lebanon " ผช.ศ. โจ คาลิล จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ในกาตาร์ กล่าวว่า ความโปร่งใสในการลงคะแนนเสียงในชีวิตจริงยังหายากในบางประเทศ แต่ชาวอาหรับได้สัมผัสประชาธิปไตยจากการโหวตในเรียลิตี้ โชว์
แต่ใช่ว่าเรียลิตี้โชว์ จะมีข้อดีเสมอไป เพราะบางรายการได้ถูกวิจารณ์เนื่องจากนำเสนอประเด็นทางโลกอย่างไม่เหมาะสม ทั้ง Al-Ra'is รายการของบาห์เรนที่เลียนแบบ "Big Brother" ด้วยการนำชายหญิง 12 คนมาอยู่ในบ้านเดียวกัน แม้จะมีการแยกที่อยู่ของผู้แข่งขันต่างเพศ แต่รายการก็ถูกวิจารณ์จนต้องปิดตัวหลังฉายไปไม่กี่ตอน หรือ "Ala al-Hawa Sawa" ที่เปิดโอกาสให้หญิงสาวเลือกหนุ่มโสดเป็นคู่ครอง ก็ถูกตำหนิจากผู้นำศาสนาว่าทำให้ศีลธรรมเสื่อมเสีย
นอกจากนี้ยังมีเรียลิตี้โชว์น้ำดีของอาหรับ ที่ไม่เพียงชายหญิงจะร่วมการแข่งขันได้อย่างเสรี แต่หนุ่มสาวทั้งซุนหนี่และชีอะห์ได้ร่วมแข่งขันในการประกอบกิจกรรมท้าทายความสามารถใน "Salam Shabab" รายการของอิรักที่ค้นหาวัยรุ่นผู้จะมาเป็นทูตแห่งสันติภาพของชาติ หรือรายการ "Stars of Science" ของกาตาร์ ที่ชายหญิง 16 คนจากชาติอาหรับมาแข่งขันกันประดิษฐ์ผลงานทางวิทยาศาสตร์ โดยผู้เชี่ยวชาญมองว่ากลุ่มวัยรุ่นอาหรับที่ผู้ผลิตรายการเคยมองข้าม ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่มาแล้วในกระแสอาหรับสปริง และกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ผู้ผลิตรายการคำนึงถึงเป็นกลุ่มแรกในปัจจุบัน