วันนี้ (20 ม.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเป็นครั้งแรก วานนี้ (19 ม.ค.) โดยมีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 24 ช่อง ผู้ให้บริการโครงข่าย 4 ราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมใน 10 ประเด็น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 24 ช่อง เสนอให้ กสทช.เร่งแก้ปัญหา เนื่องจากหลังการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบกิจการประสบปัญหาขาดทุน เป็นเหตุให้หลายช่องแจ้งขอคืนใบอนุญาตต่อ กสทช. นอกจากนี้ ยังขอให้ กสทช. เลื่อนการจ่ายค่าประมูลงวดที่ 3 ในเดือน พ.ค. 2559 ออกไป ขยายอายุใบอนุญาตประกอบกิจการ แจกคูปองทีวีดิจิทัลให้ครบ 22 ล้านครัวเรือน และลดค่าเช่าโครงข่าย รวมถึงทำระบบวัดเรตติ้งผู้ชม เพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า หลายประเด็นที่หารือกับผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำไปศึกษาถึงแนวทางแก้ปัญหาที่อยู่ภายใต้กฎหมายและไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ ขณะที่บางประเด็นก็ไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กสทช. แต่สำหรับข้อเสนอของผู้ประกอบการที่อยู่ในอำนาจของ กสทช. ซึ่งสามารถพิจารณาและดำเนินการได้ก่อนคือ การแจกคูปองให้ครบ 22 ล้านครัวเรือน และยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการอัตราร้อยละ 2 เข้ากองทุน กสทช.
ขณะที่ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ กล่าวว่า ปัญหาต่างๆ หากถูกแก้ไขก็จะช่วยลดภาระของผู้ประกอบกิจการได้
นายสุชาติ ชมกุล ตัวแทนฝ่ายกฎหมาย บริษัท ไทยทีวี ผู้ได้รับใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่องไทยทีวี และเอ็มวี ทีวี (โลก้า) กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมกับ กสทช.ว่า เจ้าของบริษัทไทยทีวีไม่ต้องการประกอบกิจการต่อไป หลังประสบปัญหาขาดทุนและไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนได้ และขณะนี้อยู่ระหว่างถูกดพักใช้ใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งมีผลถึงเดือน ก.พ. 59
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อด้วยว่า การประชุมครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 27 ม.ค. 2559 ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อจะสรุปข้อเสนอทั้งหมดภายในสิ้นเดือน ก.พ.นี้ พร้อมนำเสนอให้ บอร์ด กสทช.พิจารณาเพื่อดำเนินการ ส่วนประเด็นที่อยู่นอกเหนืออำนาจ กสทช. จะเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาต่อไป