วันนี้ (20 ม.ค. 2559) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมวิจัยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกีฏวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ค้นพบแมงมุมสันโดษ เมดิเตอร์เรเนียน โดยมีลักษณะเด่นคือ ลำตัวสีน้ำตาลเข้มมองแล้วคล้ายกับไวโอลิน ขนาดตัวประมาณ 7 มิลลิเมตร มีตา 3 คู่ และขา 4 คู่เรียวและยาวไปทางด้านข้าง
นายนรินทร์ ชมภูพวง นิสิตปริญญาเอก กล่าวว่า ค้นพบแมงมุมชนิดนี้ระหว่างการลงพื้นที่สำรวจบริเวณถ้ำ ภายในเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ดังนั้นแมงมุมชนิดนี้ มีขอบเขตการแพร่กระจายอยู่ภายในถ้ำเท่านั้น
นายนรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า แมงมุมสันโดษ เมดิเตอร์เรเนียน จัดอยู่ในกลุ่มแมงมุมที่มีพิษร้ายแรงชนิดสำคัญของโลก ซึ่งพิษทำให้ส่วนของเนื้อเยื่อบริเวณที่ถูกกัดตาย โดยกลุ่มเสี่ยงคือ เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ หากโดนกัดให้พยายามจับแมงมุมเพื่อนำไปให้แพทย์วินิจฉัย ล้างด้วยน้ำสะอาด หรือสบู่ ก่อนไปพบแพทย์ หลีกเลี่ยงกิจกรรมเคลื่อนไหว ป้องกันพิษกระจายตัว แต่จากข้อมูลของงานวิจัยที่เก็บสถิติเป็นเวลากว่า 10 ปี ในต่างประเทศ พบว่าคนที่โดนแมงมุมชนิดนี้กัดมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่เกิดอาการรุนแรงจนต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ ส่วนใหญ่แผลที่โดนกัดจะเป็นเพียงตุ่มแดงคล้ายยุงกัดและหายได้ในเวลาไม่นาน
การค้นพบแมงมุมสันโดษเมดิเตอร์เรเนียนครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย สันนิฐานว่าแมงมุมชนิดนี้อาจเข้ามาอยู่ในประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างที่มีการขนส่งวัสดุและยุทโธปกรณ์จากญี่ปุ่นมายังไทย โดยใช้ถ้ำดังกล่าวเป็นสถานที่เก็บอุปกรณ์ในการก่อสร้างทางรถไฟสายมรณะ เพราะมีรายงานว่าแมงมุมชนิดนี้ถูกค้นพบในประเทศญี่ปุ่น ก่อนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2
ขณะที่นายณัฐพจน์ วาฤทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีเซรุ่ม หรือยาถอนพิษ ทำได้แค่รักษาตามอาการเท่านั้น โดยเน้นล้างแผลให้สะอาดป้องกันการติดเชื้อ
ทั้งนี้ แมงมุมสันโดษ เมดิเตอร์เรเนียน มีลักษณะนิสัยที่มักจะหลบซ่อนตามซอกมุม หากินกลางคืน ไม่มีนิสัยดุร้าย การโดนกัดส่วนใหญ่จะเกิดจากการสัมผัสโดยตรง หรือบังเอิญสวมใส่รองเท้า เสื้อผ้าที่แมงมุมเข้าไปอาศัยอยู่
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีรายงานว่ามีคนไทยถูกแมงมุมชนิดนี้กัด จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก ซึ่งการทราบถึงสถานะและการกระจายตัวของแมงมุมชนิดนี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมากในการเฝ้าระวัง รวมทั้งวินิจฉัยอาการของแพทย์ในกรณีที่มีผู้ถูกแมงมุมกัด
สำหรับแมงมุมชนิดร้ายแรงที่พบในไทยมี 3 ชนิด ได้แก่ แมงมุมแม่หม้ายสีน้ำตาลที่กระจายอยู่ทั่วทุกภาค แมงมุมแม่หม้ายหลังเพลิงที่ยังไม่กระจายตัวในพื้นที่ต่างๆมากนัก และแมงมุมสันโดษ เมดิเตอร์เรเนียน ที่พบภายในถ้ำของพื้นที่ อพ.สธ.