ผู้เชี่ยวชาญตรวจโครงสร้างถนนพระราม 4 ทรุด
ร่องรอยการทรุดตัวของถนนพระราม 4 ฝั่งขาเข้าบริเวณแยกถนนวิทยุ ใต้สะพานไทย-เบลเยี่ยม ชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างของชั้นคอนกรีตก่อนชั้นที่ลาดยางมะตอย ไม่มีการเสริมด้วยเหล็ก จึงเป็นอีกหนึ่งข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุการทรุดตัวของถนน ซึ่งกรุงเทพมหานคร เตรียมตรวจสอบบริษัทผู้รับเหมาย้อนหลัง เพราะทำผิดระเบียบการก่อสร้างงานสาธารณูปโภคปี พ.ศ. 2544 ปี พ.ศ.2550
โครงสร้างถนนในประเทศไทยว่า มี 2 ประเภท ได้แก่ ถนนคอนกรีต และถนนลาดยางมะตอย (ถนนแอสฟัลท์) มีโครงสร้างเหมือนกันคือ มีชั้นดิน และ ชั้นดินลูกรัง หนา 10-15 ซ.ม. ซึ่งถนนลาดยางมะตอยจะบดอัดหินคลุกในชั้นที่ 3 หนา 5-10 ซ.ม. ก่อนราดยางมะตอย
ส่วนถนนคอนกรีตจะบดอัดทรายหนา 10 ซ.ม.ในชั้นที่ 3 แล้วจึงเทคอนกรีตเสริมเหล็กหนา 20 ซ.ม.ตามแบบที่วางไว้ ดังนั้นการเทคอนกรีตโดยไม่เสริมเหล็ก ถือว่าผิดหลักการออกแบบทางวิศวกรรม และผิดตามข้อกำหนดเทศบัญญัติ
ขณะที่ ผศ.ปรีชาพร สุวัฒโนดม วิศวกรโยธา กรมทางหลวง กล่าวว่า แม้อายุการใช้งานของถนนคอนกรีตและถนนลาดยางมะตอยทั่วประเทศจะอยู่ที่ 10-15 ปี แต่การทรุดตัวของถนนเหมือนที่เกิดขึ้นกับถนนพระราม 4 ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก เพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย
แม้ว่าก่อนหน้านี้ กทม.และหน่วยงานด้านระบบสาธารณูปโภค จะออกมายืนยันว่า ระบบท่อที่ฝั่งใต้ถนนไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการทรุดตัว แต่ รศ.สันชัย อินทพิชัย วิศวกรด้านปฐพี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า การทรุดตัวของถนนอยู่ที่โครงสร้างของดิน และทรายที่หายไปกว่า 40 ลูกบาศก์เมตรบริเวณถนนพระราม 4 อาจมาจากน้ำที่รั่วซึมเป็นเวลานานจนเกิดโพรงขนาดใหญ่ใต้ผิวถนน
ทั้งนี้ การเร่งซ่อมแซมถนนพระราม 4 อาจกลายเป็นอุปสรรคในการหาหลักฐานและสาเหตุของถนนทรุดตัว แม้ว่ากทม.จะยืนยันถึงความจำเป็นในการเร่งซ่อมถนนว่าเป็นจุดที่การจราจรหนาแน่นก็ตาม
ล่าสุดสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ตั้งคณะทำงานเข้าตรวจสอบการทรุดตัวของถนนพระราม 4 โดยใช้ทีมวิศวกร ผู้เชี่ยวชาญด้านงานท่อ, งานโครงสร้าง, และการวิเคราะห์ผิวดิน เพื่อค้นหาสาเหตุการทรุดตัว โดยจะลงพื้นที่ตรวจสอบในวันจันทร์ที่ 26 มี.ค.นี้