วันนี้ (24 ม.ค.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.) ออกแถลงการณ์ “รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาประชาชน” ระบุว่า หลังการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยแถลงต่อประชาชนเพื่อต้องการปฏิรูปประเทศไทยด้านต่างๆ โดยเฉพาะความเลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมในสังคมไทย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ได้จัดประชุม สมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ประจำปี 2558 เพื่อวิเคราะห์แลกเปลี่ยน ข้อเท็จจริง สถานการณ์ปัญหาชีวิตความเป็นอยู่และของชุมชนภาคใต้ในรอบปีที่ผ่านมา เราพบว่าในภาพรวม ประชาชนภาคใต้กลับประสบปัญหาการดำรงชีวิตยากลำบากรุนแรงมากขึ้น โดยเกิดจากปัจจัยเงื่อนไขหลายประการ ทั้งจากรากเหง้าต้นเหตุปัญหาที่สะสมมาแต่เดิม ทั้งจากแนวนโยบายและกฎหมาย และจากการปฏิบัติการที่ไม่เป็นธรรม
เพื่อสะท้อนปัญหาไปสู่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง ได้พยายามแก้ไขปรับปรุง มิให้ความตั้งใจแก้ไข ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมกลายเป็นต้นเหตุในการสร้างความ “อยุติธรรม” ในสังคม ให้เลวร้ายมากขึ้น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กป.อพช.ใต้) ขอเรียกร้องและเสนอแนะแนวทางเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน ดังนี้
1) กรณีเร่งรีบออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 แทนพระราชบัญญัติการประมงเดิม ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบอาชีพประมงรายย่อยประมงพื้นบ้านหลายประเด็น โดยเฉพาะ กรณีมาตรา 34 ที่มีเนื้อหาห้ามชาวประมงพื้นบ้านทำการประมงนอกเขตประมงชายฝั่งเด็ดขาด ทั้งที่ชาวประมงพื้นบ้านคนท้องถิ่นเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่ ไม่ได้ก่อปัญหาต่อทรัพยากร หรือ ทำให้รัฐเสียหายแต่อย่างใด เราเห็นด้วยว่าบทกำหนดดังกล่าวเกินความจำเป็น และจะทำให้ ชาวประมงพื้นบ้านชายฝั่งทะเล(ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้) จะได้รับความเดือดร้อนอย่างรุนแรง เราเห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งแก้ไขพระราชกำหนดการประมงใหม่ พร้อมทั้งยกเลิกมาตรา 34 ดังกล่าว
2) กรณีคำสั่ง คสช.ที่ 3 และ 4/2559 ให้ยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับ การประกอบกิจการบางประเภท เปิดทางให้กับโครงการด้านพลังงานและกิจการในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท โดยเฉพาะด้านพลังงาน รวมทั้งความพยายามของหน่วยงานที่ผลักดันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า “ถ่านหิน” หลายแห่งในภาคใต้ เราเห็นว่าแนวทางดังกล่าว จะสร้างความหายนะให้กับสังคมและความมั่นคงในชีวิตของคนภาคใต้ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เราเห็นว่า พลังงานจากถ่านหินเป็นกระบวนการที่อันตรายเกินไป ภาคใต้มีศักยภาพด้านอื่นๆ พอที่จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา “ถ่านหิน” เราขอเรียกร้องให้ รัฐบาลและ คสช.ยกเลิกคำสั่งดังกล่าว และยกเลิกการใช้ “ถ่านหิน” ในประเทศไทย
3) กรณีที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของประชาชนรายเล็กรายน้อย ที่รัฐควรให้การดูแล และแก้ไขให้เกิดการแก้ไขปัญหาให้ยั่งยืนได้ แต่ คสช.และรัฐบาล ได้ดำเนินนโยบายทวงคืนผืนป่า อ้างว่าจะดำเนินการกับนายทุนบุกรุกป่า แต่กลับรุกเข้าไปทำลาย ไล่รื้อในที่ดินของประชาชนเกษตรกรรายย่อย และในพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมที่ประกอบอาชีพเพื่อรายได้ในครัวเรือน ไม่ปฏิบัติตามนโยบายโฉนดชุมชน ที่ถือเป็นแนวทางในการปฏิรูปที่ดินที่เป็นประโยชน์สำหรับชุมชน ซึ่งไม่ใช่เป็นการมอบกรรมสิทธิ์ให้เอกชน ทั้งจะยุบเลิกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน มิหนำซ้ำยังจะออกกฎหมายให้นายทุนต่างชาติเช่าที่ดินในประเทศไทยได้ 99 ปี ในขณะที่ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิจำนวน 1 ใน 3 ของประเทศ ถูกถือครองโดยนายทุนต่างชาติอยู่แล้ว
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดการรับรองสิทธิชุมชนในการดูแลจัดการที่ดิน และทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชนซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลและมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาอยู่แล้ว ขอให้สนับสนุนการขยายระยะเวลาการดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) ตลอดจนทบทวนแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ยกเลิกการออกกฎหมายอนุญาตให้ชาวต่างชาติเช่าที่ดิน 99 ปี
เรายังเห็นว่า คสช.กำลังใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไปละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และไปสนับสนุนกลุ่มทุนที่เป็นต้นเหตุของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำลายฐานทรัพยากรอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของชุมชนมากยิ่งขึ้น คสช.ควรทบทวนและยุติการใช้อำนาจนี้