อำลาครู
การอัญเชิญแม่ตานีไปสถิตในต้นใหม่ก่อนตัดต้นกล้วยไปใช้ในงานทุกครั้ง เป็นความเชื่อที่รู้กันดีในหมู่ช่างแทงหยวก แต่สำหรับศานิต สุสุทธิ พิธีกรรมนี้เป็นมากกว่าการแสดงเคารพที่มีต่อธรรมชาติ เพราะหมายถึงภาพจำและคำสอนของผู้ให้กำเนิด รวมถึงครูช่างศิลป์คนเดียวในชีวิต "ประสม สุสุทธิ" ในคราวที่เข้าป่าหาต้นกล้วยไปใช้ในงานแทงหยวก ซึ่งวันนี้ ( 26 มี.ค.) ทั้งทายาทและศิษย์ช่างรวมใจกันเตรียมต้นกล้วยไปใช้ตกแต่งเชิงตะกอนให้กับครูช่างคนสำคัญแห่งเมืองเพชร
ลำต้นที่ยังไม่ออกเครือตั้งตรงขนาดประมาณ 4 คืบโอบและมีความสูงมากกว่า 3 เมตรเป็นต้นกล้วยที่เหมาะจะนำไปใช้ในงาน รวมถึงการล้มต้นโดยใช้กำลังคนรองรับไม่ให้กระแทกกับพื้นกันรอยช้ำ คือขั้นตอนที่สำคัญไม่น้อยกว่าการสลักหยวก ซึ่งเขาจดจำมาจากการทำงานของผู้เป็นพ่อ ผู้ได้ชื่อว่ามีผลงานดีเด่นเป็นช่างแทงหยวกรับใช้งานใหญ่ถึง 2 งาน พระเมรุมาศ และ พระเมรุ
แบบอย่างจากครูช่างต้นตระกูล และ การเติบโตมากับผลงานของ ประสม สุสุทธิ ทำให้ลูกหลานเกือบทุกคนมีโอกาสได้ฝึกฝนเขียนลายไทยเรียนรู้ลวดลายสลักและซ้อมมือตั้งแต่ยังเล็ก งานตกแต่งเครื่องประกอบพิธีสำคัญในวาระสุดท้าย ทุกลายบนหยวกจึงเกิดขึ้นจากความตั้งใจ เชิดชูครูช่างผู้พลิกฟื้นศิลปะการแทงหยวกที่ใกล้สูญหายจากงานช่างเมืองเพชร ซึ่งถือเป็นความภูมิใจสูงสุดของครอบครัว
ไม่น้อยกว่า 50 ปีที่ ประสม สุสุทธิ เผยแพร่ผลงานจิตรกรรม รวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมฝึกฝนทีมช่างแทงหยวกเมืองเพชรบุรีจนเป็นที่ยอมรับ และ ฝากฝีมือแทงหยวกประดับพระเมรุมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ พระเมรุพระราชพิธีพระราชทานพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยยังได้รับการยกย่องเป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ และ ในฐานะครูช่างผู้ต่อลมหายใจให้กับศิลปการแทงหยวกเมืองเพชรบุรี