ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ช่างแทงหยวกเมืองเพชร ร่วมกันฝากฝีมือบูชาครู "ประสม สุสุทธิ"

Logo Thai PBS
ช่างแทงหยวกเมืองเพชร ร่วมกันฝากฝีมือบูชาครู "ประสม สุสุทธิ"

ช่างแทงหยวกเมืองเพชรร่วมกันฝากฝีมือสลักลายหยวกตกแต่งเชิงตะกอน ครูประสม สุสุทธิ อย่างวิจิตรหวังให้เป็นเครื่องบูชาครูในวาระสุดท้ายให้ผลงานเป็นเครื่องเตือนความทรงจำถึงครูผู้สร้างสรรค์งานแทงหยวกประดับพระจิตกาธานงานพระเมรุมาศ

วันนี้ ( 28 มี.ค.) เป็นวันพระราชทานเพลิงศพ ประสม สุสุทธิ ผู้ฝากฝีมือในงานพระเมรุมาศและพระเมรุ ทายาท และ ศิษย์ช่างต่างร่วมกันแสดงภูมิปัญญาช่างศิลป์เมืองเพชรด้วยการร่วมกันแทงหยวกประดับเชิงตะกอนเพื่อยกย่องครูช่างแทงหยวกแห่งเมืองเพชร

โดยการอัญเชิญแม่ตานีไปสถิตในต้นใหม่ก่อนตัดต้นกล้วยไปใช้ในงานทุกครั้ง เป็นความเชื่อที่รู้กันดีในหมู่ช่างแทงหยวก แต่สำหรับศานิต สุสุทธิ พิธีกรรมนี้เป็นมากกว่าการแสดงเคารพที่มีต่อธรรมชาติ เพราะหมายถึงภาพจำและคำสอนของผู้ให้กำเนิด รวมถึงครูช่างศิลป์คนเดียวในชีวิต"ประสม สุสุทธิ" ในคราวที่เข้าป่าหาต้นกล้วยไปใช้ในงานแทงหยวก ซึ่งวันนี้ทั้งทายาทและศิษย์ช่างรวมใจกันเตรียมต้นกล้วยไปใช้ตกแต่งเชิงตะกอนให้กับครูช่างคนสำคัญแห่งเมืองเพชร

ตอนที่ลุงประสม สุสุทธิ ยังมีชีวิตอยู่มักจะมานำต้นกล้วยจากป่ากล้วยแห่งนี้ออกไปใช้งานเสมอค่ะ วันนี้ต้นกล้วย 20 ต้นจะถูกนำไปใช้ในงานพระราชทานเพลิงศพของลุงประสมเช่นกัน ซึ่งทำให้เห็นว่า ในขั้นตอนของการแทงหยวกนั้นยากตั้งแต่เริ่มตัดต้นกล้วยและที่ต้องใช้กล้วยตานีนั้นเป็นเพราะว่า มีสีนวลสวย ชุ่มน้ำ เนื้อหยวกเหนียว เหมาะจะนำไปใช้ในงานซึ่งเป็นภูมิปัญญาเชิงช่างที่ได้รับการเชื่อมโยงกันรุ่นสู่รุ่น

ลำต้นที่ยังไม่ออกเครือตั้งตรง ขนาดประมาณ 4 คืบโอบ และมีความสูงมากกว่า 3 เมตร เป็นต้นกล้วยที่เหมาะจะนำไปใช้ในงาน รวมถึงการล้มต้นโดยใช้กำลังคนรองรับไม่ให้กระแทกกับพื้นกันรอยช้ำ คือ ขั้นตอนที่สำคัญไม่น้อยกว่าการสลักหยวก ซึ่ง ศานิต สุสุทธิ จดจำมาจากการทำงานของผู้เป็นพ่อผู้ได้ชื่อว่ามีผลงานดีเด่นเป็นช่างแทงหยวกรับใช้งานใหญ่ถึง 2 งาน พระเมรุมาศ และ พระเมรุ

แบบอย่างจากครูช่างต้นตระกูล และ การเติบโตมากับผลงานของประสม สุสุทธิ ทำให้ลูกหลานเกือบทุกคนมีโอกาสได้ฝึกฝนเขียนลายไทย เรียนรู้ลวดลายสลัก และ ซ้อมมือตั้งแต่ยังเล็ งานตกแต่งเครื่องประกอบพิธีสำคัญในวาระสุดท้ายทุกลายบนหยวกจึงเกิดขึ้นจากความตั้งใจ เชิดชูครูช่างผู้พลิกฟื้นศิลปการแทงหยวกที่ใกล้สูญหายจากงานช่างเมืองเพชร ซึ่งถือเป็นความภูมิใจสูงสุดของครอบครัว

ไม่น้อยกว่า 50 ปีที่ ประสม สุสุทธิ เผยแพร่ผลงานจิตรกรรม รวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรม ฝึกฝนทีมช่างแทงหยวกเมืองเพชรบุรีจนเป็นที่ยอมรับ และฝากฝีมือแทงหยวกประดับพระเมรุมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ พระเมรุพระราชพิธีพระราชทานพระเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยยังได้รับการยกย่องเป็นผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาทัศนศิลป์ และในฐานะครูช่างผู้ต่อลมหายใจให้กับศิลปการแทงหยวกเมืองเพชรบุรี      

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง