วันนี้ (26ม.ค.2559) สภาพอากาศที่หนาวและอุณหภูมิลดลง 6-7 องศาเซลเซียสหรืออยู่ในช่วง 16-17 องศาเซลเซียสในกรุงเทพฯและอาจอยู่ที่ 10 องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่าในพื้นที่ภาคเหนือและอีสานในช่วง 2 วันนี้ จนทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า อากาศหนาวที่เกิดขึ้นเป็นสภาพอากาศแปรปรวนหรือไม่
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า อากาศหนาวที่เกิดขึ้นในช่วง 2 วันนี้ หลายคนอาจแปลกใจแต่แท้จริงแล้วเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามปกติเนื่องจากในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ยังอยู่ในช่วงของฤดูหนาวของไทย บุคคลที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปจะพบว่าฤดูหนาวมีความยาวนานและเกิดขึ้นเป็นปกติในอดีตโดยอุณหภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 10-20 กว่าองศาเซลเซียส หากย้อนไปในปี 2554 กรุงเทพฯ เคยมีอุณหภูมิ 12 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีอากาศหนาวในลักษณะเช่นนี้เป็นปกติเพียงแต่ในช่วงหลังอากาศมักที่จะไม่หนาวมากนักประชาชนทั่วไปจึงไม่คุ้นชินกับความหนาว นอกจากนี้สภาพอากาศที่แปรปรวนที่มีทั้งความหนาวและฝนที่ตกในช่วงนี้จะไม่ส่งผลกระทบหรือช่วยในเรื่องของภัยแล้งได้เนื่องจากฝนที่ตกเป็นเพียงฝนคะนองกระจายซึ่งจะช่วยเพิ่มความชื้นในระดับผิวดินได้แต่ไม่เพียงพอต่อการเติมน้ำในเขื่อนเพื่อบรรเทาภัยแล้งได้
"เด็กอายุไม่ถึง 30 ก็จะแปลกใจ ตื่นเต้นกับความหนาวที่เกิดขึ้นเพราะไม่เคยพบมาก่อน แต่นี่คือฤดูหนาวตามปกติไม่ได้แปลกแต่อย่างใด แต่หากจะผิดปกติอย่างแท้จริงก็คือการเกิดอากาศหนาวในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายนซึ่งไม่ใช่ภาวะตามปกติอย่างแท้จริง" นายอานนท์ ระบุ
อดีตผู้อำนวยการ GISTDA ยังระบุว่า อุณหภูมิที่ลดลงไม่เพียงแต่ในประเทศไทยแต่ยังเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทั้งเมียนมา เวียดนาม ไต้หวัน ฮ่องกงหรือเกาหลีใต้ ที่มีอุณหภูมิลดลงเป็นประวัติการณ์เช่นกัน เนื่องจากประเทศเหล่านี้อยู่ตรงกลางมวลอากาศเย็นที่ปกคลุมพื้นที่แถบนี้แทบทั้งหมดจึงมีความหนาวเย็นกว่าไทยที่อยู่ในส่วนล่างของมวลอากาศก้อนนี้
นายอานนท์ ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่เกิดมวลความกดอากาศขนาดใหญ่อาจเป็นสิ่งผิดปกติในเรื่องของสมดุลความร้อนในซีกโลกภาคเหนือซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ความกดอากาศต่ำจึงเข้ามาแทนที่ซึ่งเรื่องนี้ยังอยู่ในสมดุลโลกที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตามวงจรซึ่งยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มากนักเพราะหากเฉลี่ยอากาศทั้งโลกก็พบว่าไม่แตกต่างกันมากนัก