ภัยแล้งขยายวงกว้าง “เหนือ – อีสาน” ต้องเจาะน้ำบาดาลทำเกษตร
ชาวนาในอำเภอวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร ลงทุนว่าจ้างผู้รับเหมา ขุดเจาะบ่อบาดาลในพื้นที่นาบ่อละ 6 -8 หมื่นบาท เพื่อนำน้ำมาทำนา หลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ แต่ก็หวังว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนหากข้าวมีราคาสูง เช่นเดียวกับชาวไร่อ้อยในตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ติดตั้งระบบให้น้ำ แบบน้ำหยด ภายในไร่อ้อย และ สูบน้ำเข้าพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นถึงไร่ละเกือบหนึ่งพันบาท หลังผลผลิตกำลังเหี่ยวเฉาและยืนต้นตาย จากฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 3 เดือน
ขณะที่ตัวแทนกลุ่มผู้ปลูกแคนตาลูป ในตำบลแสลงพัน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ เรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเหลือ เพราะผลผลิตประสบปัญหาภัยแล้งและแมลงศัตรูพืชระบาด เสียหายซ้ำซากมานานกว่า 8 ปี โดยไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะไม่ใช่พืชที่เข้าข่ายหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ ทำให้เกษตรกรกว่า 30 รายต้องเลิกปลูก เพราะประสบปัญหาขาดทุน
ด้านสำนักชลประทาน ที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา เตรียมปรับแผนการพร่องน้ำ จากเขื่อนขนาดใหญ่ในภาคอีสานตอนล่าง เหลือวันละประมาณ 1 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมที่ปล่อยวันละกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อรักษาระดับน้ำในเขื่อนไว้ที่ร้อยละ 50 ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตรช่วงฤดูแล้ง