นายกสมาคม รพ.เอกชน ขอความชัดเจนรับรักษาฉุกเฉินมาตรฐานเดียวจากรัฐ
เครือข่ายแพทย์ และนักวิชาการได้ร่วมกันเสวนาในหัวข้อ "นำร่องฉุกเฉินมาตรฐานเดียว จับตารัฐบาลยิ่งลักษณ์กับอนาคตสามกองทุนสุขภาพ" ก่อนที่จะกำหนดมาตรฐานการรักษา กรณีการเจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาได้ทันทีทุกโรงพยาบาล เพียงแค่แสดงบัตรประชาชนในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินมาโรงพยาบาล ก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที โดยไม่ต้องมีการสำรองจ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน นี้ ซึ่งนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ที่ร่วมเสวนา แสดงความเห็นว่า นโยบายนี้ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของประชาชนได้ทุกกลุ่มคน เนื่องจากยังมีบุคลากรที่งานในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ครูเอกชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ อีกเกือบ 2 ล้านคน ที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ใน 3 กองทุนสุขภาพนี้ได้
จึงเรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เช่นเดียวกับ กรณีปัญหาที่สำนักงานประกันสังคม ประกาศจ่ายค่าบริการตามน้ำหนักของโรค ให้กับสถานพยาบาลเครือข่าย ในอัตรา 15,000 บาท ขณะที่สถานพยาบาลนอกเครือข่าย จ่ายให้ 10,500 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล
ด้าน นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เรียกร้องให้ มีการกำหนดนิยามของคำว่า เจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้ชัดเจน โดยเฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน ที่ต้องแจกแจงรายงานโรคให้ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาในการให้บริการ นอกจากนี้ ควรมีการจัดระบบให้ชัดเจนสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์ใน 3 กองทุนสุขภาพ เช่น ลูกจ้างชั่วคราว ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์การบริหารส่วนตำบล รวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจ เพราะหากเกิดกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ามารับบริการ โรงพยาบาลเอกชน ก็ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาได้ ซึ่งจะมีปัญหาในขั้นตอนการเรียกเก็บค่าบริการจาก สปสช.
ขณะที่เมื่อวานนี้ (28 มี.ค.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงนามบันทึกความร่วมมือในการสร้างหลักประกันสุขภาพแก่ประชาชน 3 กองทุน พร้อมระบุว่า นับจากนี้จะสร้างความเชื่อมั่นในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน ทั้งที่มีสิทธิ์ในโรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชน โดยผู้ป่วยฉุกเฉินจะรับการรักษาได้ทุกที่ โดยไม่เลือกปฏิบัติ และผู้ป่วยทุกคนจะได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียม และทั่วถึง ภายใต้แนวคิด เจ็บป่วยฉุกเฉินรักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน
ด้าน นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ทางกระทรวงได้เตรีมความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะได้มอบหมายให้ สปสช.ชี้แจงทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลเอกชน และประชาชน ถึงขอบเขต และนิยามกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และยืนยันว่า ทุกโรงพยาบาลให้ความร่วมมือ สำหรับโรงพยาบาลที่อยู่ในต่างจังหวัด จะเป็นหน้าที่ของ สปสช.เช่นกัน
ขณะที่ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้ สปสช. ในฐานะผู้จัดทำระบบซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการรับการรักษาให้กับโรงพยาบาล เบื้องต้นได้หารือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังว่า ภายใน 6 เดือนได้เตรียมงบประมาณสำรองจ่ายฉุกเฉินไว้ 200 ล้านบาท เพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว
และเบื้องต้น สปสช.ได้ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงสิทธิที่จะเข้ารับการรักษาฉุกเฉินว่ากรณีใดเข้าข่ายหรือไม่ เช่น กรณีหัวใจวาย อุบัติเหตุรุนแรง อันตรายถึงสมอง หัวใจ ปอด ถือว่าอยู่ในหลักเกณฑ์ แต่หากมีดบาดเล็กๆ น้อยๆ คงไม่เข้าหลักเกณฑ์ นี่คือสิ่งสำคัญที่จะไปทำความเข้าใจ และหลังจากวันที่ 1 เม.ย. สปสช.จะมีการประเมินผลการดำเนินการทุก 1 เดือน และยินดีรับเรื่องราวร้องเรียนผ่านสายด่วน 1669