ย้อนรอยคดีหุ้นชินฯ ก่อนดีเอสไอแถลงยัน
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยการถือหุ้นในบริษัทชิน คอร์ปอเรเรชั่น จำกัด มหาชน ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายบรรพต ดามาพงศ์ นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร ไม่ใช่เจ้าของที่แท้จริงในหุ้นของบริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น แต่เป็นการถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ คุณหยิงพจมาน ณ ป้อมเพชร
ซึ่งคำวินิจฉัยนี้ได้ถูกนายกรณ์ จาติกวณิช นำมายื่นให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอเร่งรัดการดำเนินคดีอาญาเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมาเพราะเชื่อว่าน่า จะเข้าข่ายความผิด 2 ฐาน คือ แจ้งให้พนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ และ ปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น แต่การสอบสวนของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอกลับมีความเห็นว่า คดีนี้ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินคดีได้จึงสั่งยุติเรื่อง
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษชี้แจงข้อสังเกตของนายกรณ์ ในกรณีแรกว่า สาเหตุที่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเหตุเกิดในปี 2544 ซึ่งขณะนั้นเจ้าหน้าที่ กลต. ยังไม่ถูกระบุว่า เป็นเจ้าพนักงานเพิ่งจะมาระบุเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2551
ส่วนการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นข้อเท็จจริงซึ่งควรบอกแจ้งในแบบแสดงรายการนั้น ตรวจสอบพบว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะการทำรายงานเป็นหน้าที่ของบริษัท ซึ่งได้ข้อมูลมาจากบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ ส่วนนายบรรณพต เกี่ยวข้องเพราะเป็นผู้ที่เซ็นร่วมรับรองรายงาน
เมื่อย้อนไปเมื่อ วันที่ 21 มิถุนายน 2554 นายแก้วสรร อติโพธิ อดีต คตส. ได้ยื่นหนังสือ ต่อดีเอสไอ ถึงพฤติการณ์ที่เข้าข่ายความผิดของนายกรัฐมนตรี 3 กรณี คือ ปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นอันเป็นเท็จ ให้ข้อมูลการถือครองหุ้นอันเป็นเท็จต่อ คตส.และ เบิกความเท็จต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาขอผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งทั้ง 3 ข้อทำให้หลายฝ่ายมองว่าจะส่งผลกระทบต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่