ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อภิวัฒน์การท่องเที่ยวไทย แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

31 มี.ค. 55
05:02
471
Logo Thai PBS
 อภิวัฒน์การท่องเที่ยวไทย  แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“การท่องเที่ยวของประเทศไทยมีอะไรที่เป็นจุดอ่อนและจุดแข็ง เรื่องอะไรบ้างที่ยังไม่ลงตัวปัญหาหนึ่งซึ่งชัดเจนมากคือ รายได้ส่วนใหญ่ยังตกไปไม่ถึงชุมชนท้องถิ่น คนยากจน คนเล็กคนน้อยในสังคมยังไม่ได้รับส่วนแบ่งจากการท่องเที่ยวมากเท่าที่ควร และเราไม่ได้มีการทะนุบำรุงแหล่งทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยว”

 ศ.นพ. ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฎิรูปประเทศ กล่าวในเวทีชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองสู่การอภิวัฒน์ประเทศไทยครั้งที่ 7 เรื่องการท่องเที่ยวกับทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรม ณ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

โดย ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำวิจัยกับคณะเกี่ยวกับเรื่องการท่องเที่ยวมานานกว่า 20 ปี กล่าวว่า การพัฒนาท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เป้าหมายสุดท้าย จึงไม่ได้เป็นการพัฒนาเพื่อนักท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนในท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยว เมืองท่องเที่ยวเป็นเมืองสุขภาวะ

ซึ่งจากแนวโน้มสำคัญด้านการท่องเที่ยวของไทยในปี 2553 ประเทศไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมีความก้าวหน้ามากในเรื่องการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

“เรามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นลำดับที่ 16 ของโลก และมีรายได้มากเป็นลำดับที่ 11 ของโลก ซึ่งหมายความว่า ลำดับในเรื่องรายได้ที่ได้รับนั้นดีกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา และปี 2553 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนประเทศไทย จำนวน 15.93 ล้านคน และปี 2554 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานว่า มีมากถึง 19 ล้านคน”

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า สินค้าท่องเที่ยว ได้แก่ สิ่งดึงดูดใจ บริการภาคประชาชน และบริการภาครัฐ

“สิ่งดึงดูดใจ มีทั้งด้านที่เป็นทุนวัฒนธรรมและทุนสังคม ซึ่งมีความแตกต่างกันคือ ทุนวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ได้มาเป็นมรดกจากพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เช่น วัง วัด ความมีอัธยาศัยใจคอที่ดี ขณะที่ทุนสังคมเป็นสิ่งที่ร่วมสร้างกันมา เช่น กิจกรรมประเพณีต่างๆ แห่เทียนพรรษา ต้องมีคนมาเดินแห่ มีการหล่อเทียน ซึ่งคนที่มาร่วมนั้นมาโดยไม่คิดถึงเรื่องเงิน แต่เมื่อมีการท่องเที่ยวเข้ามา กลับมีคนบางกลุ่มได้เงิน แต่คนที่ออกแรงกลับไม่ได้ กล่าวอย่างนี้มิได้หมายความว่า คนที่ออกแรงควรจะได้เงินทุกคน แต่ทำให้เริ่มมองเห็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น สิ่งที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ บางครั้งการจัดพิธีการงานประเพณีต่างๆ เป็นเรื่องของทุนสังคม แต่มีคนหาประโยชน์จากทุนสังคมแล้วกลับไม่คืนกำไรสู่สังคม”

จากการทำแบบสอบถามเรื่องการท่องเที่ยว ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า จากแบบทดสอบถามนักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทย ภาพลักษณ์ที่เขามองเห็นหรือคิดถึงคืออะไร พบว่าคำตอบเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่นักท่องเที่ยวมักจะบอกว่า ชายหาด แต่ปัจจุบันนี้คือ สปากับการนวด  ส่วนชายหาด และธรรมชาติ อื่นๆ เป็นลำดับรองลงมา

“ลองถามเหตุผลทุกคนตอบตรงกันว่า คนไทยน่ารัก ฉะนั้นอันที่จริงแล้วสิ่งที่เราขายคือ ความเป็นคนไทย เพราะสปากับการนวดที่ประเทศแถบยุโรปเองก็มี แต่เขาบอกว่า เวลาสปาที่อื่นมือสับๆแล้วทำหน้าบึ้งใส่ ไม่เหมือนคนไทยที่นวดไปคุยไป”

 การท่องเที่ยวไทยจึงอาศัยคนไทยและสมบัติส่วนรวมของชาติ รัฐบาลควรสนใจความเห็นของคนไทยและสนใจนโยบายสาธารณะที่ดูแลสิ่งแวดล้อม

“ที่ผ่านมา การส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ไม่ว่ารัฐมนตรียุคสมัยไหน ดูเหมือนจะสนใจประการเดียวคือ ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวให้มากที่สุด ซึ่งนโยบายการท่องเที่ยวควรจะต้องดูแลสิ่งแวดล้อมและสิ่งที่เป็นทรัพย์สินมรดกของชาติในเรื่องการท่องเที่ยว ต้องดูและให้คนไทยได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว”

จากแบบทดสอบผลการวิจัยที่ถามว่า ถ้าส่งเสริมให้คนมาเที่ยวเยอะๆ คนไทยได้อะไร 1,000 คนตอบว่า อันดับ 1 ได้เผยแพร่ชื่อเสียงของประเทศ แต่เมื่อถามว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวทำให้ประเทศต้องสูญเสียอะไรบ้าง คนส่วนใหญ่อันดับ 1 ตอบว่า รายได้ตกอยู่ในมือคนรวยมากกว่าคนจน อันดับ 2 รายได้กระจุกตัวอยู่ไม่กี่จังหวัด

ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า เมื่อโพลออกมาอย่างนี้ จึงได้มีการนำข้อมูลไปทดสอบว่า รายได้จากการท่องเที่ยวไม่กระจายจริงหรือไม่ ผลปรากฏว่า เป็นเช่นนั้นจริง

การกระจายรายได้การท่องเที่ยวในประเทศไทย จังหวัดกรุงเทพฯ เพียงจังหวัดเดียวมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 47.3 ส่วนจังหวัดภูเก็ตคิดเป็นร้อยละ 12 ซึ่งถือว่าน้อยกว่ากรุงเทพฯ มาก กล่าวโดยสรุปได้ว่า จังหวัดที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 20 มีสัดส่วนรายได้คิดเป็นร้อยละ 88.62 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด แล้วในปี 2553 มีตัวเลขสูงถึง 0.72 ถ้าเป็นนักเศรษฐศาสตร์จะทราบว่า การกระจายรายได้มีความเหลื่อมล้ำมาก ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ชี้ให้เห็นถึงการกระจายรายได้

“การศึกษาโดยใช้แบบจำลองดุลยภาพทางเศรษฐกิจของ ดร.อนันต์ วัฒนกุลจรัส พบว่า ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยว คำตอบคือ รายได้จากการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ในภาคนอกเกษตร และกลุ่มผู้มีรายได้สูง การขยายตัวของการท่องเที่ยวมักมีผลทำให้การกระจายรายได้เลวลง”

นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมการท่องเที่ยวในชุมชนถึงได้มีรายได้ค่อยข้างน้อย ตอบได้ว่าเพราะกิจกรรมเสริมอันเป็นหัวใจสำคัญในการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนมีไม่มากพอ

ส่วนเรื่องการกระจายผลประโยชน์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอย่างไร ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวว่า จากข้อมูลซึ่งเคยทำไว้ที่จังหวัดเชียงใหม่ อุตสาหกรรม 14 สาขา พบว่า โรงแรมจ่ายภาษีมากที่สุด รองลงมา ภัตตาคาร ร้านอาหารบาร์ ขณะที่ สนามกอล์ฟ สถานประกอบการขายเหล้า เบียร์จ่ายภาษีน้อยที่สุด เจ้าของทุนได้ส่วนแบ่งมากที่สุดจากบริการด้านโลจิสติกส์

สิ่งที่สำคัญมากทีเดียวนั้น คือการท่องเที่ยวก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะผลกำไรส่วนใหญ่นั้นตกอยู่กับคนบางกลุ่ม

“การท่องเที่ยวก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างไร เมื่อกำไรตกอยู่กับคนกลุ่มหนึ่ง แต่สังคมต้องเป็นฝ่ายแบกรับต้นทุน และเมื่อการท่องเที่ยวทำให้ทรัพยากรท่องเที่ยวที่เป็นของส่วนรวม เช่น ธรรมชาติร่อยหรอ เสื่อมโทรมไป ซึ่งส่งผลให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ไม่ยั่งยืน เช่น การท่องเที่ยวที่ตำบลปลายโพงพาง อำเภออัมพวา จังหวัดสุมทรสงคราม พบว่า เป็นการท่องเที่ยวที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะนักท่องเที่ยวนั่งเรือหางยาวเข้าไปชมหิ่งห้อย แล้วทำให้เกิดเสียงดัง ชาวบ้านถึงกับตัดต้นลำพูทิ้งเพราะเกิดความรำคาญ นี่คือการท่องเที่ยวเข้าไปรบกวนชาวบ้าน”

ไม่เพียงเท่านี้ การส่งเสริมการท่องเที่ยวหากมาคิดผลตอบแทนทางด้านเศรษฐศาสตร์แล้วจะทำให้เห็นว่า ไม่ใช่การกระจายรายได้ที่แท้จริงให้กับคนจน

“การจัดเทศกาลต่างๆ มีการศึกษาของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ ทุกปีจะมีรถประดับดอกไม้ร่วมงานจำนวน 25 คน ในจำนวนนี้เป็นของโรงแรมแค่คันเดียว ที่เหลือของท้องถิ่น เมื่อเวลาจัดงาน พระทุกวันจะมาปักดอกไม้บนรถให้สวยงาม เรื่องเหล่านี้ถูกนำไปคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นต้นทุน ผลตอบแทน และคนที่เข้าร่วม ถ้าจ้างมาจะต้องใช้เงินเท่าไหร่ รวมทั้งคำนวณด้วยว่า งานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ สรุปว่า ในการลงทุน 1 บาทโรงแรมได้รับผลตอบแทน 75 สตางค์”

ข้อมูลนี้คงทำให้เห็นว่า เราไปร่วมมือกันทำงาน แต่ผลประโยชน์กลับไปตกอยู่กับคนบางกลุ่ม ถามว่าคนบางกลุ่มจะคืนผลประโยชน์นี้ให้กับชุมชนหรือไม่ ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ สรุปได้ว่า การจัดเทศกาลทำให้รายได้เพิ่มขึ้นจริง แต่ธุรกิจขนาดเล็กได้เป็นส่วนน้อย ประชาชนได้แค่ร่วมสนุก

“ฉะนั้น เวลาที่รัฐบาลหรือสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ต้องการจะทำการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เพราะคิดว่า High Value Tourism เช่น Regatta ดูเหมือนมีมูลค่าสูงก็จริงแต่มูลค่าโดยรวม (Total Value) นั่นต่ำกว่าก็เป็นได้ จึงต้องระวัง อย่าไปคิดว่า ทำอะไรที่ไฮโซ เท่านั้นถึงจะทำให้รวย ความจริงอาจจะไม่เป็นแบบนั้น ต้องทดสอบดูด้วยว่า ใครได้อะไร เท่าไหร่ นี่เป็นประเด็นนโยบายสาธารณะที่ค่อยข้างสำคัญ”

อย่างไรก็ตาม การจัดการด้านการท่องเที่ยว ศ.ดร.มิ่งสรรพ์  ให้ความเห็นว่า รัฐจะต้องกระจายการท่องเที่ยวไปสู่จังหวัดอื่นๆ นอกจากจังหวัดหลัก การโฆษณาหรือการดูแลเรื่องการท่องเที่ยว ไม่ควรจะกระจุกตัวอยู่ใน 4 จังหวัดใหญ่ (กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่) เพื่อไม่ให้เป็นความเหลื่อมล้ำและเป็นการกระจายรายได้ นอกจากนี้ รัฐควรจะใส่ใจเพิ่มสิ่งอำนวยสะดวกในประเทศและทัวร์ประหยัดมากขึ้น

พร้อมทั้งให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการวางแผนและได้ผลประโยชน์จากการจัดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ซึ่งที่ผ่านมารัฐสนใจด้านการตลาด และละเลยการบูรณาการ จึงควรเพิ่มสมรรถนะในการจัดการสิ่งแวดล้อมเสริมอีกด้วย
         


ข่าวที่เกี่ยวข้อง