ถกทางออกปัญหาคนไร้สัญชาติ-ชนเผ่าพื้นเมือง คืนสิทธิความเท่าเทียม
ทั้งที่เป็นกลุ่มคนหนึ่ง ที่มีแรงหนุนเสริมสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ซ้ำร้าย ด้วยความไม่รู้ รวมไปถึงการไม่รู้เท่าทัน กลุ่มคนเหล่านี้อาจถูกซ้ำเติมด้านการรีดไถจากเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มเติมด้วย และเพื่อให้คนไร้สัญชาติที่ว่านี้มีที่ยืนในสังคม
ในการจัดประชุมสมัชชาปฏิรูปประเทศระดับชาติครั้งที่ 2 จึงได้มีการจัดเวทีเสวนาเรื่อง “ชะตากรรม และทางออกคนสัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง” ขึ้นในวันที่ 30 มีนาคม 2555 ที่ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา เพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนสังคม รวมไปถึงกระตุกเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องหันหลังแลหน้าเกี่ยวการมีสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ โดยการมอบ“สัญชาติไทย”ให้กับพวกเขา โดยผ่านการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการเล่าปัญหาจากตัวแทนคนไร้สัญชาติ รวมไปถึงนักวิชาการเพื่อหาทางออกในเรื่องดังกล่าว
นายบุญเสริม ประกอบปราณ ตัวแทนคนพลัดถิ่น คนไร้สัญชาติ ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เล่าถึงที่มารวมไปถึงปัญหาว่า ผู้ผลัดถิ่นในแถบภาคใต้ประสบปัญหาสำคัญคือการไม่มีสัญชาติ รวมกว่าพันคน โดยกระจายใน 4 จังหวัดประกอบด้วย จ.ระนอง จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ชุมพร และจ.พังงา โดยต่อสู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มากว่า 10 ปีแล้ว ทุกวันนี้คนพลัดถิ่น ได้สัญชาติไทยจากการพิสูจน์หลักฐานจากหน่วยงานราชการเสร็จสิ้นถือว่าน้อยมาก จะมีเฉพาะลูกที่เกิดในไทยที่ได้สัญชาติจาก พ.ร.บ.สัญชาติฉบับใหม่เท่านั้น เนื่องจากติดปัญหาเรื่องความมั่นคง รวมทั้งเกิดกรณีการแอบอ้างจากประชาชนชาวพม่าบางคน ทำให้หน่วยงานรัฐเหมารวมไปหมด
“อยากบอกว่าคนพลัดถิ่นทางภาคใต้ ความเป็นอัตลักษณ์ความเป็นจิตวิญญาณคือคนไทย100 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อมีการขีดเส้นเขตแดนแบ่งประเทศจึงทำให้พวกผมไม่ใช่คนไทยไร้ซึ่งสัญชาติ การจะใช้สิทธิพื้นฐานความเป็นมนุษย์ ทั้งเรื่องการศึกษา ระบบสาธารณะสุข เหมือนเช่นพลเมืองไทยโดยทั่วไปจึงถูกกีดกันแทบทั้งหมด ”นายบุญเสริมกล่าว
ขณะที่นางนฤมล อรุโณทัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำการศึกษาเรื่องชาวเลมอร์แกนไร้สัญชาติ บอกว่า “นอกจากปัญหาคนไม่มีสัญชาติชายแดนไทยพม่าแล้ว ชาวเล โดยเฉพาะชาวมอร์แกนที่ถือว่าอยู่มาตั้งแต่ดั้งเดิมก็ยังไร้ซึ่งสัญชาติ จากเดิมที่มีปัญหาอยู่ประมาณพันกว่าคน ปัจจุบันมีการพิสูจน์ไม่ได้ซึ่งสัญชาติกว่า 100 คน และที่ยังล่าช้าเนื่องจากเรื่องงบประมาณ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่ยังมีจำนวนจำกัด หากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน มาช่วนกันตรงนี้มั่นใจว่าปัญหาซึ่งการไร้สัญชาติของชาวมอร์แกนจะไม่มีแน่นอน”
ด้านนายพงษ์ศักดิ์ สายวรรณ ตัวแทนคนไร้สัญชาติในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง บอกเล่าถึงปัญหาเช่นกันว่า “ในพื้นที่ภาคอีสานปัญหาคนไร้สัญชาติคือคนลาวที่ข้ามโขงอพยพหนีภัยสงครามมา บ้างก็อาศัยอยู่บ้านญาติ บ้างก็อาศัยอยู่ตามศูนย์พักพิง ปัจจุบันนี้มีจำนวนกว่าหมื่นคน ที่ยังมีปัญหาอยู่ จะมีที่ไม่มีปัญหาคือลูกที่เกิดในไทย ที่หายใจเต็มปอดไปได้บ้างเนื่องจากได้อนิสงค์จากพ.ร.บ.คนไร้สัญชาติฉบับใหม่ ปัญหาสำคัญที่ประสบพบเจอคือ ความหวาดกลัว ไม่กล้าไปแจ้งต่อทางการ เนื่องจากมีความเชื่อเดิมๆกลัวถูกจับ และที่สำคัญ การอ้างจากหน่วยงานภาครัฐคือ ความมั่นคงของประเทศ”
“อยากให้ภาครัฐเปลี่ยนทัศนคติมุมมองเสียใหม่ ที่ผ่านมามักมีทัศนคติเดิมๆ ที่มีมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ปัจจุบันนี้ไม่มีสงครามแล้ว จะดูเฉพาะความมั่งคงเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์มันไม่ได้ ต้องดูให้ครอบคลุมทั้งเรื่องสังคม และเศรษฐกิจด้วย ถ้าปล่อยให้เรื่องเช่นนี้ยืดเยื้อต่อไป ปัญหาสำคัญที่อาจตามมา คือการผลักไสให้พวกเขาไปประกอบอาชีพที่ไม่สุจริตโดยเฉพาะการค้ายาเสพติด เนื่องจากความไม่มีสัญชาติได้” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
ส่วนนายสมชาติ พิพัฒน์ธรากุล มูลนิธิกระจกเงา สำนักงานเชียงราย เสริมว่า การตรวจDNA ต่อการใช้เป็นหลักฐานประกอบการให้สัญชาติ แรกๆเหมือนกับสวยหรู แต่นานๆเข้า จุดประสงค์ในการทำเริ่มผิดเพี้ยน เพราะสำนักทะเบียนของอำเภอ มักเรียกร้องหลักฐานแต่ DNA ฉะนั้นการดึงดันที่จะทำตรงนี้ถือว่าผิดเพี้ยนตามหลักมนุษยธรรม ฉะนั้นการตรวจสอบหลักฐานอะไรต่างๆ ควรจะดูที่ความมุ่งหวัง การทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติจะดีกว่า
ด้านนางอาภรณ์ ใหม่มงคล เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ สำนักงานกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภาพลักษณ์โดยทั่วไปของกระทรวงมหาดไทยอาจถูกมองว่าเป็นศัตรู แต่ยืนยันว่าทางหน่วยงานได้ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็ถือว่าเป็นคนไทย ไม่เคยมีอคติใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ด้วยเรื่องเชิงนโยบาย โดยเฉพาะความมั่นคงของชาติ เราจำเป็นต้องทำตามนี้ ที่ผ่านมายอมรับว่าอัตราจำนวนคนที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องนี้มีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอ จึงอาจทำให้เกิดความล่าช้าไปบ้าง หากมีการปรับโครงสร้างโดยการเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานจะถือเป็นเรื่องที่ดี เรื่องการให้สัญชาติไทย ตามมติครม.เมื่อวันที่7 ธันวาคม 2553 เรื่องการให้สัญชาติ ยืนยันว่าจะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
ปัญหาเรื่องคนไร้สัญชาติ นับเป็นปัญหาทางสังคมที่สำคัญ ที่ทุกฝ่ายต้องต้องผนึกร่วม และผลักดัน ให้เกิดเป็นผลสำเร็จ ตามหลักมนุษยธรรม และพื้นฐานความเป็นมนุษย์ เพื่อทำให้พวกเขาเหล่านี้มีที่ยืนในสังคม เพื่อนำไปสู่การเป็นฐานรากที่สำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ