ผลศึกษา, พันธุ์ปาล์มลูกผสมเทเนอร่าม ผลิตน้ำมันปาล์ม, ปากต่อปาก, เพื่อนบ้าน, ญาติพี่น้อง
นายสมพงศ์ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี(สศข.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าในปี 2554 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี (สศข.8) ด้ทำการศึกษาการยอมรับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับการเพิ่มประสิทธิภาพปาล์มน้ำมัน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ผ่านการอบรมจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพปาล์มน้ำมัน ในปี 2551 และ 2552 ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา และกระบี่ รวม 283 ราย เน้นกิจกรรมสำคัญที่ส่งผลต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมัน ประกอบด้วย การใช้พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่าที่สมบูรณ์แข็งแรง การนำดินไปตรวจวิเคราะห์ การนำตัวอย่างใบไปตรวจวิเคราะห์ การเก็บข้อมูลผลผลิตปาล์มน้ำมัน และการใส่ปุ๋ยเคมีตามหลักวิชาการ
ผลการศึกษา พบว่า การใช้พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่าที่สมบูรณ์แข็งแรง มีผู้ยอมรับและปฏิบัติตามคำแนะนำ ประมาณร้อยละ 73 ส่วนการนำดินไปตรวจวิเคราะห์ มีผู้ยอมรับและปฏิบัติตามคำแนะนำ ร้อยละ 39 ด้านการนำตัวอย่างใบไปตรวจวิเคราะห์ มีผู้ยอมรับและปฏิบัติตามคำแนะนำ ร้อยละ 7 และการเก็บข้อมูลผลผลิตปาล์มน้ำมัน มีผู้ยอมรับและปฏิบัติตามคำแนะนำ ร้อยละ 41 สำหรับการใส่ปุ๋ยเคมีตามหลักวิชาการ มีผู้ยอมรับและปฏิบัติตามคำแนะนำ ร้อยละ 18 ขณะที่มีผู้ยอมรับและปฏิบัติถูกต้องตามหลักวิชาการบางส่วน ร้อยละ 65 และไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการเลย ร้อยละ 17 โดยแหล่งความรู้ที่ใช้ทำสวนปาล์มน้ำมัน ส่วนใหญ่ได้มาจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน/ญาติพี่น้อง ร้อยละ 89
เมื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับและปฏิบัติตามคำแนะนำ เรื่องการใช้พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่าที่สมบูรณ์แข็งแรง การนำดินไปตรวจวิเคราะห์ การนำตัวอย่างใบไปตรวจวิเคราะห์ และการเก็บข้อมูลผลผลิตปาล์มน้ำมัน ด้วยแบบจำลอง Binary Logit พบว่า การใช้พันธุ์ปาล์มน้ำมันลูกผสมเทเนอร่าที่สมบูรณ์แข็งแรง มีความสัมพันธ์กับ ความรู้เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน
การนำดินไปตรวจวิเคราะห์ มีความสัมพันธ์กับ ประสบการณ์ทำสวนปาล์มน้ำมัน ความถี่ในการติดต่อเจ้าหน้าที่เกษตร และจำนวนแหล่งความรู้ที่ใช้ในการทำสวนปาล์มน้ำมัน การนำตัวอย่างใบไปตรวจวิเคราะห์ มีความสัมพันธ์กับ ประสบการณ์ทำสวนปาล์มน้ำมัน ส่วนการเก็บข้อมูลผลผลิตปาล์มน้ำมัน มีความสัมพันธ์กับ ประสบการณ์ทำสวนปาล์มน้ำมัน และความถี่ในการติดต่อเจ้าหน้าที่เกษตร
สำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับและปฏิบัติตามคำแนะนำการใส่ปุ๋ยเคมีตามหลักวิชาการ โดยใช้แบบจำลอง Multinomial Logit กำหนดให้การไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการเลย เป็นฐานในการวิเคราะห์เปรียบเทียบ (Base Line) พบว่า เกษตรกรตัดสินใจใส่ปุ๋ยเคมีถูกต้องตามหลักวิชาการ มีความสัมพันธ์กับ ความรู้เกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน ส่วนเกษตรกรตัดสินใจใส่ปุ๋ยเคมีเป็นไปตามตามหลักวิชาการบางส่วน มีความสัมพันธ์กับ ภาระหนี้สินและจำนวนแหล่งความรู้ที่ใช้ในการทำสวนปาล์มน้ำมัน
ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจ พบว่า การอบรมในอนาคตควรเน้นการให้ความรู้เรื่องการใส่ปุ๋ย การดูแลรักษาทั่วไป และเรื่องพันธุ์ปาล์มน้ำมันเป็นประจำทุกปี โดยควรมีการจัดตั้ง “หมอปาล์มอาสา” เช่นเดียวกับการจัดตั้งหมอดินอาสาให้กระจายอยู่ในทุกหมู่บ้าน และควรมีการจัดหาเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างดินและใบประจำในทุกหมู่บ้านหรือตำบล และให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้แบบ“ปากต่อปาก” เนื่องจากผลการศึกษาได้ชี้ให้เห็นถึงแหล่งความรู้ที่ใช้ทำสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งได้มาจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนบ้าน/ญาติพี่น้องมากที่สุด