รัฐบาลตั้งศูนย์ดูแลแรงงานหลังปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท วานนี้

การเมือง
2 เม.ย. 55
04:39
16
Logo Thai PBS
รัฐบาลตั้งศูนย์ดูแลแรงงานหลังปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท วานนี้

การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อวานนี้ รัฐบาลชี้แจงว่า การปรับขึ้นค่าจ้างจะมีผลกระทบเพียงระยะสั้น และการปรับขึ้นค่าจ้าง ก็เพื่อให้สอดคล้องต่อค่าครองชีพ และเบื้องต้นได้สั่งการให้ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรณีค่าจ้างไม่เป็นธรรม จำนวน 9 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อรับแจ้งการละเมิดสิทธิแรงงานจากกรณีการขึ้นค่าจ้างแล้ว

การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวานนี้ (1 เม.ย.) สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทใน 7 จังหวัด ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 ส่วนที่เหลืออีก 70 จังหวัดจะปรับขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2556 และให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทในทุกจังหวัดในปี 2557-2558

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยยอมรับว่า ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ผู้ประกอบการจะได้รับผลกระทบบ้างแต่เป็นเพียงระยะสั้น หากผู้ประกอบการรายใดมีปัญหาเรื่องเงินทุน หรือไม่เข้าใจการปรับค่าจ้างในครั้งนี้ ก็สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ศูนย์โปร่งใส กระทรวงแรงงาน หรือที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ และยังเห็นว่า การปรับค่าแรงครั้งนี้เป็นการยกระดับรายได้ ให้แก่แรงงาน ที่มีผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะขณะนี้ค่าครองชีพต่างๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหากไม่ปรับขึ้นค่าแรงจะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบขาดหาย แต่หากแรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นอำนาจการซื้อก็เพิ่มขึ้น การจับจ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคก็จะดีขึ้น

ส่วนการสร้างความมั่นใจให้กับแรงงาน หลังมีการปรับขึ้นค่าจ้าง กระทรวงแรงงานได้ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรณีค่าจ้างไม่เป็นธรรมจำนวน 9 แห่งทั่วประเทศ เพื่อรับแจ้งการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยแรงงานสามารถติดต่อได้ที่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ศูนย์แรงงาน กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ ย่านนิคมอุตสาหกรรมเวลโกร, กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรี, กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก, กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่, สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเลคทรอนิคส์ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย, สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์, สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต และสหพันธ์แรงงานธนาคารสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพฯ

ขณะที่ภาคเอกชนโดย นายสมมาต ขุนเศษฐ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ และลูกจ้างโดยตรง โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีจะไม่สามารถอยู่ได้ ทำให้ลูกจ้างต้องตกงานในที่สุดจึงเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ และผู้ใช้แรงงานมหาศาล ซึ่งในช่วงเวลาอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเห็นผลกระทบชัดเจน โดยธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวนมากจะหยุดประกอบกิจการ เพราะต้นทุนเพิ่มร้อยละ 20-30

ขณะที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจท่องเที่ยว นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานฝ่ายนโยบาย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในวันพรุ่งนี้ (3 เม.ย.) สทท. เตรียมเสนอให้ สสว. ให้เงินสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้วยการสนับสนุน คอมพิวเตอร์, ซอฟแวร์ ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศ พร้อมจัดโครงการฝึกอบรม ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่ แรงงานในอุตสาหกรรมนี้ ถือเป็นการยกระดับแรงงาน ของอุตสาหกรรม ให้มีประสิทธิภาพ, ทัดเทียม หรือคุ้มค่า กับเงินค่าแรงที่จะได้เพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท

ทั้งนี้ สทท. มองว่า การชะลอเวลาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คงไม่สามารถทำได้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายระบุ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการ และแรงงาน จะต้องดำเนินการนับจากนี้ต่อไป คือการใช้แรงงานที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในด้านการตลาด เพิ่มรายได้ให้ทันกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากจำนวนแรงงานที่มีอยู่ส่วนภาคแรงงาน จะต้องปรับเพิ่มขีดความสามารถเพิ่มความขยันในการทำงาน ภาครัฐจะมีส่วนช่วย ในเรื่องของการให้ความรู้ เพิ่มเติม

เบื้องต้น หลังปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะเกิดการปรับตัว เข้าสู่สมดุลย์ในราคาค่าบริการตามหลัก ดีมานด์ และซัพพลาย ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ปรับขึ้นค่าแรง เกิดการขยับราคาค่าบริการ ราคาห้องพักให้เข้าสู่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะในอุตสาหกรรมนี้ จะมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้านาน 1 ปี ซึ่งก็จะทยอยครบรอบ นับจากนี้ และจะเห็นว่า ระยะแรกจะใช้แรงงานอย่างจำกัด ไม่มีการจ้างงานเพิ่ม หรือ จ้างงานใหม่ มาแทนคนเก่าที่ลาออก แต่ก็จะไม่ปลดแรงงานที่มีอยู่เดิม เพราะโดยธรรมชาติ ในอุตสาหกรรมนี้ยังถือว่าขาดแคลนแรงงานคุณภาพอยู่แล้ว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง