ผลนิด้าโพล ชี้คนกรุงฯ เทคะแนนให้ 5 หลักธรรมาภิบาลสำนักงานเขตของกทม.อยู่ในระดับมาก
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง ธรรมาภิบาลของสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร จากประชาชนในพื้นที่ทั่วทุกเขตของกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,500 หน่วยตัวอย่าง พบว่าชาวกรุงเทพฯมีความคิดเห็นว่า หลักธรรมาธิบาลทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วยความเป็นธรรมต่อผู้ให้บริการ ความเสมอภาคในการให้บริการ ความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคม ความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ และการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมของสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครนั้น อยู่ในระดับมากถึงปานกลาง โดยระบุว่าหลักธรรมาภิบาลด้านที่ได้คะแนนอยู่ในระดับมาก ได้แก่ ด้านความเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ ร้อยละ 52.79 ด้านความเสมอภาคในการให้บริการ ร้อยละ 50.57 ด้านความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคม ร้อยละ 46.43 และความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ร้อยละ 44.40 ส่วนหลักธรรมาภิบาลที่ได้คะแนนระดับปานกลาง คือเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ร้อยละ 38.60
และเมื่อจำแนกตามค่าคะแนนเฉลี่ยสูงสุด –ต่ำสุดของแต่ละเขตแล้ว แล้วพบว่า
เขตที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงสุด ด้านความเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ ได้แก่ เขตบางคอแหลม คะแนนเฉลี่ย 3.93 คะแนน
ด้านความเสมอภาคในด้านการให้บริการ ได้แก่ เขตบางคอแหลม คะแนนเฉลี่ย 4.10 คะแนน
ด้านความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคม ได้แก่ เขตสาทร คะแนนเฉลี่ย 3.97 คะแนน
ด้านความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ได้แก่ เขตสวนหลวง คะแนนเฉลี่ย 3.90 คะแนน
ด้านเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ได้แก่ เขตสาทร คะแนนเฉลี่ย 3.93 คะแนน
ส่วนเขตที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยต่ำสุดในด้านความเป็นธรรมต่อผู้รับบริการ ได้แก่ เขตคลองสามวา คะแนนเฉลี่ย 2.83 คะแนน
ด้านความเสมอภาคในด้านการให้บริการ ได้แก่ เขตตลิ่งชัน คะแนนเฉลี่ย 2.60 คะแนน
ด้านความรับผิดชอบต่อประชาชนและสังคม ได้แก่ เขตวัฒนา คะแนนเฉลี่ย 2.70 คะแนน
ด้านความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ได้แก่ เขต เขตตลิ่งชัน คะแนนเฉลี่ย 2.53 คะแนน
ด้านเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ได้แก่ เขตยานนาวา คะแนนเฉลี่ย 2.20 คะแนน
หลักธรรมาภิบาล หมายถึง แนวทางในการจัดระเบียบเพื่อให้สังคมของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชนและภาคประชาชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และตั้งอยู่ใน ความถูกต้องเป็นธรรม ตามหลักพื้นฐานการบริหารกิจการบ้านเมือง ซึ่งปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ทั้งองค์การภาครัฐและภาคเอกชนได้ให้ความสำคัญ และนำแนวคิดนี้ไปประยุกต์ใช้กับการบริหารองค์การเพื่อการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพสู่ประชาชน โดยมุ่งให้เกิดความเป็นอิสระในการบริหารงาน การลดการควบคุม ให้ผู้บริหารสามารถปฏิบัติงานได้บรรลุตามเป้าหมายสถาบันที่ทำหน้าที่บริหารงานภาครัฐได้