เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติผาแต้มและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ตรวจสอบหน้าผาอุทยานแห่งชาติผาแต้ม บ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ ที่พังถล่มตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 และมีกระแสข่าวว่าเหตุการณ์ทำให้ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์อายุกว่า 4,000 ปีได้รับความเสียหาย
นายนครินทร์ สุทัตโต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ระบุว่า ได้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยา จ.ขอนแก่น เข้าตรวจสอบ พร้อมระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้ เกิดจากหน้าผาหินทรายชั้นหนาที่รองรับน้ำหนักด้วยหินดินดานที่มีสภาพแตกร่อนง่ายและเป็นโพรงถ้ำลึก มีร่องรอยการซึมผ่านของน้ำ ก่อนหินจะถล่มลงมาและไม่กระทบกับภาพเขียนสีโบราณที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 6 ก.ม.
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ยังระบุอีกว่า จากการตรวจสอบความมั่นคงของหน้าผาบริเวณผาแต้ม ซึ่งเป็นที่ตั้งของภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ เบื้องต้นพบมีรอยแตกของชั้นหินมีความเสี่ยงต่อการถล่มของหินอยู่หลายจุด โดยหลังจากนี้จะต้องเฝ้าระวังและมีมาตราการป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับนักท่องเที่ยว
ขณะที่วันนี้ (1 ก.พ.2559) เว็บไซต์ของสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เผยแพร่รายงานการเกิดหินถล่มในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1.เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2558 จนท.อช.ผาแต้มสังเกตเห็นความผุกล่อนของชั้นหินดินดานที่แทรกตัวสลับกับชั้นของหินทรายบริเวณภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม ที่เห็นได้ชัดเจนจนส่งผลกระทบถึงชั้นหินทรายที่เกิดการแตกตัวและหลุดล่วงลงเป็นบางส่วนและเห็นรอยร้าวที่เกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับตัวภาพเขียนสีที่กรมศิลปากรได้ทำการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ตั้งแต่ปี 2524 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่ลงไปชมภาพเขียนอาจได้รับอันตรายถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิตได้ จึงได้ทำหนังสือหารือผ่าน สบอ.9 (อุบลราชธานี) เพื่อประสานขอผู้ที่มีองค์ความรู้ด้านธรณีวิทยามาร่วมตรวจสอบ และประเมินความเสี่ยงตลอดจนให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
2.วันที่ 24 ธันวาคม 2558 เวลาประมาณ 12.00 น.ได้รับแจ้งจากผู้ใหญ่บ้านท่าล้ง หมู่ที่ 6 ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ว่าเกิดเหตุหน้าผาหินถล่ม ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศเหนือ ประมาณ 1.5 ก.ม. จึงนำกำลังเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพบบริเวณที่หินถล่มลงมามีขนาดกว้างประมาณ 50 เมตร สูง 40 เมตรและลึก 6 เมตร จึงได้ถ่ายภาพและทำรายงานส่งให้ สบอ.9 (อุบลราชธานี) ทราบ
3.วันที่ 26 มกราคม 2559 นายพิทักษ์ เทียมวงศ์ ผอ.ส่วนธรณีวิทยา สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 (ขอนแก่น) และคณะร่วมกับ จนท.กรมศิลปากรที่ 11 (อุบลราชธานี) และ จนท. อช.ผาแต้ม ร่วมกันตรวจสอบชั้นหินที่ผุกล่อน รอยแตกร้าวและการหลุดล่วงของหินบริเวณรอบๆภาพเขียนสี เพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขในเบื้องต้น และได้เดินทางไปดูจุดที่หน้าผาหินถล่มด้วย โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะรีบนำปัญหากลับไปรายงานให้ต้นสังกัดทราบและจำเป็นจะต้องให้คณะเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญจากส่วนกลางเข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง
4.ในเบื้องต้น อช.ผาแต้มได้จัดทำป้ายเตือน "ระวังหินหล่น" ไปติดในบริเวณจุดเสี่ยงแล้ว