คอป.ห่วงเร่งแผน "ปรองดอง" นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่

การเมือง
3 เม.ย. 55
14:55
13
Logo Thai PBS
คอป.ห่วงเร่งแผน "ปรองดอง" นำไปสู่ความขัดแย้งรอบใหม่

การสร้างความปรองดองในบ้านเมืองไม่มีฝ่ายใดปฏิเสธได้ว่า ไม่จำเป็น แต่หากการผลักดันเกิดขึ้นอย่างรวบรัดและเร่งรัด คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. แสดงความห่วงใยอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น

  

<"">
  
<"">

คอป.ย้ำว่า กระบวนการสร้างความปรองดองต้องใช้เวลาต้องใช้ความรอบคอบต้องมีความโปร่งใสและต้องอยู่บนหลักประชาธิปไตย ไม่เช่นนั้นอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น เพราะจนถึงทุกวันนี้ความขัดแย้งยังไม่ได้จ้างหายไป และระบุถึงข้อห่วงใยว่า รัฐบาลและรัฐสภา ควรให้ความสำคัญกับ "ตัวกลาง" ในการขับเคลื่อนปรองดอง และ ระบุว่า ภาครัฐควรเปลี่ยนวิธีการ ดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการมิติประชาสังเคราะห์ที่หมายถึงการชดเชยเยียวยา มาเป็น มิติการขอโทษ ที่หมายถึงการอภัยและทำความเข้าใจกัน

แต่หากเทียบรายงานของ คอป.กับความเป็นจริงที่ตอนนี้ฝ่ายบริหารวางแนวนโยบายปรองดองไว้ภายใน 1 ปีและมีฝ่ายนิติบัญญัติช่วยผลักดันให้เป็นรูปธรรม และ การขับเคลื่อนอยู่นี้อาจสะท้อนได้ว่าเดินหน้าอย่างรวดเร็ว

โดยวันพรุ่งนี้ ( 4 เม.ย.) และวันที่ 5 เม.ย.สภาผู้แทนราษฎรบรรจุวาระการพิจารณารายงานสรุปของคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าแนบท้ายมาด้วยแล้ว แม้เจ้าขององค์กรผู้วิจัยจะแสดงเจตนาหากถูกหยิบไปใช้ โดยยึดเสียงข้างมากจะขอคืน หรือ ขอเวลาทบทวนใหม่ เพื่อความรอบด้าน แต่ประธานรัฐสภา ย้ำถึงกระบวนการที่แล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ ซึ่งอาจไม่มีผลต่อกลไกการขับเคลื่อนของรัฐสภา

ไม่ต่างจากการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเดิมร่างที่ถูกผลักดันเข้าสู่สภาฯ และ ได้รับความเห็นชอบวาระ 1 คือร่างของรัฐบาล,พรรคเพื่อไทยและพรรคชาติไทยพัฒนา และแนวโน้มที่จะเข้าสู่วาระ 2 ในวันที่ 10 และ 11 เม.ย.อาจไม่ต่างกัน หลังวันนี้คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เรียกประชุมนัดพิเศษ กรณีเร่งด่วนเตรียมสรุปร่างกรรมาธิการฯซึ่งมีต้นแบบมาจากร่างของทั้ง 2 พรรคการเมืองเช่นกัน และ การผลักดันให้แล้วเสร็จ ได้ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นการเร่งรีบ และ รวบรัดไม่ต่างกัน

สำหรับการเดินหน้าสร้างความปรองดองโดยเฉพาะการปรับโครงสร้างทางกฎหมาย นักวิชาการ ด้านรัฐศาสตร์ เห็นว่า ควรใช้เวลาเพื่อความรอบคอบและรอบด้าน เนื่องจากเหตุความขัดแย้งมีหลายมิติดังนั้นทุกฝ่ายควรมีส่วนร่วมใช้เพียงแค่เวทีของสภาฯเท่านั้น

โดยคำว่า เวลา ของรัฐบาล หรือ รัฐสภา อาจเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งกันเพื่อพิสูจน์ผลงาน แต่คำว่า เวลา กลับเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นเพราะฉะนั้นการใช้เวลาย่อมต้องเลือกบริบทที่จะต้องใช้ด้วยเช่นกัน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง