ไม่ว่าจะหาวิธีฆ่าตัวตายซักกี่ครั้ง ฟีล คอนเนอร์ ผู้ประกาศข่าวพยากรณ์อากาศ ผู้มีความเห็นแก่ตัวเป็นที่ตั้ง ก็ไม่สามารถหลุดพ้นจากคำสาปจากการใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในวันเดียวไปเรื่อยๆ เมื่อเขาต้องตื่นมาใช้ชีวิตในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ไปตลอดกาล คือเนื้อหาของหนังตลกคลาสสิกปี 1993 เรื่อง Groundhog Day ที่กลายเป็นหนัง cult film ที่สร้างสาวกจำนวนไม่น้อย
โดยวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ปีนี้ (2559) มีการจัดกิจกรรมฉลองให้กับหนัง Groundhog Day มากมาย ทั้งการออกอากาศ Groundhog Day แบบมาราธอนทางโทรทัศน์ และการฉายในโรงภาพยนตร์แบบต่อเนื่องตลอดทั้งวัน
ชะตากรรมของ ฟีล คอนเนอร์ ที่ต้องใช้ชีวิตในวันเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้คำว่า Groundhog Day กลายเป็นวลีในสังคมอเมริกัน และยังเป็นคำสแลงในกองทัพสหรัฐฯ ที่สื่อถึงการตกอยู่สถานการณ์ยากลำบากและไม่อาจแก้ไขได้
ด้านเว็บไซต์ WhatCulture.com ได้คำนวนจำนวนวันที่ ฟีล คอนเนอร์ ต้องใช้ชีวิตแบบซ้ำๆในหนังทั้งหมด โดยวิเคราะห์จากพัฒนาการที่เขาปรับปรุงตัวเพื่อสานสัมพันธ์เพื่อนหญิงคนสนิท ตั้งแต่หัดพูดภาษาฝรั่งเศส เล่นเปียโน และแกะสลักน้ำแข็ง รวมถึงการปรับปรุงตัวเป็นคนดีของสังคม ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาไปทั้งหมดถึง 12,395 วัน หรือเกือบ 34 ปี เลยทีเดียว
ทั้งนี้ การที่ได้ผู้สร้างที่เลื่อมใสในศาสนาพุทธมาเขียนบทหนังและกำกับ ทำให้ Groundhog Day สอดแทรกแนวคิดตามหลักพุทธศาสนาไว้อย่างมาก เมื่อการกลับมาตื่นในวันเดิมซ้ำๆ กัน สื่อถึงการเวียนว่ายตายเกิด ขณะที่ชะตากรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอก มาจากผลกรรมที่เขาทำตัวเป็นผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นแต่ความต้องการของตนเอง กระทั่งเขาสามารถกำจัดอัตตาและหันมาอุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อสังคม เขาก็หลุดพ้นจากคำสาปแล้วกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ ไม่ต่างจากการหลุดพ้นจากวัฏสงสารในที่สุด
ความนิยมต่อเนื่องของหนัง Groundhog Day ยังนำไปสู่การดัดแปลงเป็นเวอร์ชั่นละครเพลงที่จะจัดแสดงในปีนี้ ก่อนจะนำไปเปิดการแสดงในบรอดเวย์ภายในปี 2560 อีกด้วย