วสท.แถลงสาเหตุถนนพระราม 4 ทรุดตัว
นายธเนศ วีระศิริ เลขาธิการสมาคมวิศวกรรมแห่งประเทศไทย เสนอว่า การซ่อมแซม ควรนำชิพพลาย มาปิดกั้นบริเวณที่เกิดความเสียหาย เพื่อป้องกันไม่ให้ดินเคลื่อนย้ายตัวเพิ่มเติมก่อนรื้อส่วนที่พังออกไป รวมทั้งสร้างกำแพงกันดินคอนกรีตในแนวเดิมขึ้นใหม่ พร้อมกับแนะนำประชาชน สังเกตการทรุดตัวของถนนได้จาก รอยแตก และรอยแยกของฟุตบาทที่ขนานกับลำคลอง หากมีการขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาตรวจสอบ หรือดำเนินการซ่อมแซมโดยเร็ว
นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า ถนนพระราม 3 ก่อสร้างมานานกว่า 20 ปี และเกิดการทรุดตัวอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ต้องปรับปรุงบาทวิถี ส่วนสาเหตุหลัก น่าจะเกิดจากน้ำหนักกดทับจากการซ่อมแซมทางเท้าของผู้รับเหมาที่เสริมเข้าไป โดยไม่มีการรื้อของเก่าออก ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น ทำให้ดินหรือบาทวิถีพังตามลงมาด้วย
เบื้องต้นได้สั่งการให้สำนักการโยธา ดำเนินการซ่อมแซมให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการปรับปรุงทางเท้าที่ติดกับลำราง และมีกำแพงกันดิน โดยให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรง และรอบคอบมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้นอีก
ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานคร ได้ออกมาเตือนให้เฝ้าระวังพื้นที่บริเวณถนนพระราม 4 และถนนพระราม 3 อาจจะเกิดการทรุดตัวของถนนได้ ทั้งนี้เหตุที่เกิดขึ้นทำให้กรุงเทพมหานคร จะทำการปรับปรุงและซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภคครั้งใหญ่
ขณะที่วันนี้ (4 เมษา) วิศวกรรมสถานแห่งประเทศจะแถลงถึงสาเหตุที่ทำให้ถนนพระราม 4 ฝั่งขาเข้าบริเวณแยกสะพานไทย-เบลเยียม เกิดการทรุดเป็นหลุมกว้างขนาดใหญ่เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา ทั้งนี้จากการตรวจสอบสันนิษฐานใกล้เคียงกับหลายหน่วยงานว่า มีโพรงขนาดใหญ่ใต้ดินที่เกิดจากการที่ท่อเหล็กขนาดใหญ่ของประปาและท่อระบายน้ำของกทม.ค้ำถนนอยู่ เเละมีน้ำที่ยังไม่ทราบที่มาได้ชะเอา ดิน ทราย ที่อยู่ใต้ดินออกไป จนทำให้พื้นถนนเกิดการทรุดตัว อีกข้อสันนิษฐานหนึ่งเกิดจากการทรุดตัวที่ต่างกันของถนนบริเวณสถานีรถไฟฟ้าลุมพินี กับ ถนนพระราม 4 ทำให้วันนี้ทางวิศวกรรมกรรมสถานจะหารือร่วมกับอีก 3 หน่วยงานว่าจะมีการเปิดพื้นผิวจราจร เพื่อทำการตรวจสอบหาสาเหตุที่แท้จริงหรือไม่