ผู้สร้างหนัง
ละครฉากเล็ก "การตายของเช็คสเปียร์" ที่จัดแสดงบริเวณข้างทำเนียบ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ผู้สร้างหนัง เช็คสเปียร์ต้องตาย ต้องการแสดงว่า ไม่เห็นด้วยที่ภาพยนตร์ซึ่งถอดมาจากบทประพันธ์ของกวีชื่อก้องโลกแทบทุกตัวอักษรเรื่องนี้ ต้องกลายเป็นหนังเรื่องที่ 2 ที่คณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ให้ เรท ห. หรือ ห้ามฉาย ด้วยเหตุผลว่าสร้างความแตกแยกในสังคม สะท้อนชะตากรรมของภาพยนตร์ และกวีเอกของโลก ที่การห้ามฉายภาพยนตร์ซึ่งไม่ต่างอะไรจากความตาย
เอกสารจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ที่ได้รวบรวมรายชื่อของคนในแวดวงศิลปะวัฒนธรรมกว่า 500 รายชื่อ เช่น สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์,นนทรี นิมิบุตร,อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล,นิวัติ กองเพียร รวมถึง มาร์ค ทอนตัน เบเน็ท นักวิชาการด้านเช็คสเปียร์ศึกษาจากอังกฤษถูกแนบพร้อมไปกับเอกสารการยื่นอุธรณ์ในครั้งนี้ โดยหวังว่า จะมีส่วนช่วยในการทบทวนผลการตัดสินของคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์ การที่มีภาพยนตร์ไทยถูกห้ามฉายไปแล้วถึง 2 เรื่อง ภายใต้มาตรา 29 ของ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีความคลุมเครือและต้องใช้ดุลยพินิจ ทำให้ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงชื่อครั้งนี้เห็นว่าอาจถึงเวลาที่ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
ภาพยนตร์เช็คสเปียร์ ต้องตาย จะเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์ของคณะกรรมการภาพยนตร์และวิดีทัศน์แห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะมีการพิจารณา เรท ห.ห้ามฉายของภาพยนตร์เรื่องนี้อีกครั้ง และจะมีมติออกมาภายใน 30 วัน ที่จะได้รู้ผลกันว่าสุดท้ายชะตากรรมของ "เช็คสเปียร์ต้องตาย" จะเป็นอย่างไร